TDRI สัมภาษณ์ผู้บริหารสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย
เนื่องด้วยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “ การวิเคราะห์ศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน (กรณีการขนส่งทางถนน ราง และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ)”
ซึ่งอยู่ภายใต้แผนงานวิจัย ” แผนงานการสังเคราะห์เชิงนโยบายงานวิจัยด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งและโลจิสติกส์ภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และมี ดร. ณรงค์ ป้อมหลักทอง เป็นผู้อำนวยการแผนงาน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบภาพรวมของสถานะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยโดยประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและภายนอก และจัดทำสถานการณ์ทางเลือก (Scenarios) เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการขนส่งทางถนน ราง และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และเสนอแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน เพื่อความสามารถในการแข่งขันเมื่อไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
ดังนั้น ดร.พัตรานุช ศรประสิทธิ์ ( นักวิชาการ ฝ่ายวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้วิจัยจึงขอเข้าพบ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ( นายเกริกกล้า สนธิมาศ ) เพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูล เพื่อการวิเคราะห์ที่สำคัญ 3 ส่วนประกอบกัน คือ
1) ข้อมูลจากการรวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง ด้านการขนส่งทางถนน ด้านการขนส่งทางราง ด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ครอบคลุมทั้งด้านสถานภาพความจุความสามารถ (capacity) และการใช้งาน (utilization) เพื่อศึกษาสถานภาพของโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมทั้งหมด (Portfolio) และเน้นการประเมินสถานภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่จำเป็นต้องจัดเตรียมสำหรับรองรับ AEC พร้อมจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานตามผลการประเมินศักยภาพ
2) ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วิเคราะห์ ประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและภายนอก และจัดทำสถานการณ์ทางเลือก (Scenarios) เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ได้มาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ กรอบนโยบายหรือกรอบความร่วมมือที่สำคัญภายในภูมิภาคอาเซียน และข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและออกแบบสอบถามเพื่อประมวลข้อคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (Key Informants) ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
3) ข้อมูลจากการศึกษาและรวบรวมประสบการณ์ต่างประเทศ (Best Practices) เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยศึกษารวมรวมจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นตัวอย่าง กรณีศึกษาประสบการณ์ต่างประเทศเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน