เร่งยิกเวนคืน “ส้ม-ชมพู-เหลือง” หวั่นค่าโง่-ปิดช่องผู้รับเหมาขอต่อเวลา

617

เร่งยิกเวนคืน “ส้ม-ชมพู-เหลือง” หวั่นค่าโง่-ปิดช่องผู้รับเหมาขอต่อเวลา

หลัง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” จดปากกาเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย 3 สี “ส้ม-ชมพู-เหลือง” มูลค่าลงทุนร่วม 2 แสนล้านบาทไปร่วม 4 เดือนดูเหมือนยังไม่ฉลุยเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่

ล่าสุด “รฟม.” ได้เปิดประชุมร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มี “ชาติชาย ทิพย์สุนาวี” ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน แต่ยังไม่มีข้อสรุปสุดท้าย 100%

ว่ากันว่า…ที่ยังคาราคาซัง เป็นเพราะมีความคลางแคลงใจจากเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะสายสีชมพู และสายสีเหลืองที่ รฟม.เปิดให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการ จะเป็นการนำที่ดินของรัฐไปเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนที่รับสัมปทานหรือไม่ แม้ว่า รฟม.จะเป็นผู้เวนคืนที่ดินก็ตาม

โดยสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” ตลอด 30.4 กม. มีเวนคืน 765 แปลง รวม 155 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 184 หลัง ค่าเวนคืน 6,013 ล้านบาท แนวจะเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตาม ถ.ลาดพร้าว ถึงแยกบางกะปิ เลี้ยวขวาเข้า ถ.ศรีนครินทร์ แยกพัฒนาการ ศรีนุช ศรีอุดม ศรีเอี่ยม ลาซาล ถึงแยกศรีเทพา เลี้ยวขวา ถ.เทพารักษ์ สิ้นสุดที่แยกสำโรง มี 23 สถานี

“สีชมพู” แคราย-มีนบุรี 34.5 กม. มีเวนคืน 648 แปลง รวม 279 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 185 หลัง ค่าเวนคืน 6,847 ล้านบาท แนวเริ่มที่ศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมกับสีม่วง วิ่งเข้า ถ.ติวานนท์ เลี้ยวขวาห้าแยกปากเกร็ด ผ่าน ถ.แจ้งวัฒนะ รามอินทรา สิ้นสุดที่มีนบุรี มีเวนคืนจุดขึ้น-ลง 30 สถานี และอีก 5 จุดใหญ่ แยกปากเกร็ด เมืองทอง หลักสี่ วงเวียนหลักสี่ และมีนบุรี กว่า 280 ไร่

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ในการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโน-ไทยและราชบุรีโฮลดิ้ง) มีความกังวลใจเรื่องส่งมอบพื้นที่ เพราะตามสัญญาระบุจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 3 ปี 3 เดือน

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้รฟม.เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ของทั้ง 2 เส้นทาง ให้สามารถก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและอาจเกิดภาระทางการเงินการคลังแก่ภาครัฐในอนาคต

โดย รฟม.สรุปการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานได้ และอาจมีความเสี่ยงจะถูกเรียกร้องค่าชดเชยและขอขยายเวลาดำเนินงานจากผู้รับจ้างงานโยธา เพราะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนดเวลา

มีจุดที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ มี “สีส้ม” ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทาง ทช. ยังไม่ให้ใช้บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สร้างทางขึ้นลงสถานีสนามหลวง

“สีเหลือง” ติดขอใช้พื้นที่ทล. 3 บริเวณ ได้แก่ เกาะกลางถ.ศรีนครินทร์และถ.เทพารักษ์ สร้างทางวิ่งและสถานี 9.3 กม., ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม สร้างทางวิ่ง สถานี และอาคารจอดแล้วจรและ บริเวณทางคู่ขนานและทางหลักของถ.บางนา-ตราด สร้างทางเชื่อมอาคารจอดแล้วจร

“สีชมพู” มี 2 พื้นที่ยังไม่ได้ข้อยุติกับ ทล. มีพื้นที่สำนักงานเครื่องกลและสื่อสาร ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อก่อสร้างทางขึ้นลง สถานีศรีรัช และพื้นที่หมวดการทางหลักสี่ เพื่อก่อสร้างสถานีหลักสี่

และ “สีม่วง” ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ คือ การขอใช้พื้นที่กับ ทช. ตามแนวเส้นทาง 3 แห่ง เพื่อก่อสร้างเป็นปล่องระบายอากาศและทางออกฉุกเฉินตามแนวเส้นทาง

ขณะที่ “สีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี” ตลอดเส้นทาง 37.5 กม. มีเวนคืน 1,357 แปลง รวม 171 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 989 หลัง ค่าเวนคืน 21,522 ล้านบาท มี 29 สถานี

ในเฟสแรก “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” 21.2 กม. แนวเริ่มที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง สำนักงาน รฟม.ไป ถ.พระราม 9 ถ.รามคำแหง แยกลำสาลี สิ้นสุดที่สุวินทวงศ์ ใกล้จุดตัดกับ ถ.รามคำแหง มีเวนคืน 594 แปลง อาคาร 222 หลัง วงเงิน 9,625 ล้านบาท

ล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่ให้ใช้พื้นที่เกาะกลางถ.พระราม 9 และรามคำแหงยังติดการก่อสร้างโครงการทางยกระดับที่ซ้อนทับกับโครงสร้างงานโยธาช่วงแยกลำสาลี – คลองบ้านม้า

จากปัญหาดังกล่าวที่อาจจะกระทบชิ่งต่อแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทาง “ธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล” รักษาการผู้ว่าการ รฟม.ย้ำว่า จะให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ส่วนที่สามารถเข้าได้ก่อน โดยทยอยดำเนินการแบบคู่ขนานไป อย่างไรก็ตามคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังแน่นอน

โดยเฉพาะสายสีชมพูกับสีเหลืองที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน เพราะช่วงนี้เอกชนกำลังออกแบบยังมีเวลาที่จะเร่งขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะแจ้งให้ผู้รับเหมาเข้าเจาะสำรวจระบบสาธารณูปโภค