เตรียมความพร้อม ‘โลจิสติกส์ไทย’ สู่เป้าหมาย “ศูนย์กลางอาเซียน”

679
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า การรวมประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงการค้าขายของประชากรในภูมิภาคที่ถือเป็นอีกตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ แน่นอนว่ากลุ่มธุรกิจต่างชาติย่อมจับจ้องมองดูตาเป็นมัน ซึ่งผู้ประกอบการท้องถิ่นเองต้องมีแผนรับมือเมื่อเวลานั้นมาถึง โดยเฉพาะโลจิสติกส์ไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมก่อนจะถูกฉกฉวยโอกาสไปต่อหน้าต่อตา
คุณเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ให้ความเห็นว่า เมื่อได้ยินคำว่า “รับมือ” คนจะเกิดความรู้สึกด้านลบ แต่อยากให้มองว่าเป็นโอกาส เพื่อจะได้เกิดความกลัวน้อยลง และมุ่งไปทางเดียวกันคือการทำอย่างไรที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับมัน โดยมองด้วยความรู้สึกด้านบวก เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักมองว่า จะแข่งขันได้หรือไม่ จึงทำให้เกิดความกลัว
ถ้าหากมองว่าเป็นโอกาสของเรา กลับจะรับมือได้ดีกว่า แต่ถ้าเห็นว่าเป็นอุปสรรค เราจะกลัวแล้วไปตั้งกำแพงเยอะแยะ จึงอยากให้ความคิดของผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนไป อยากให้มองอะไรก็แล้วแต่เป็นโอกาสสามารถหยิบฉวยได้และกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงตัวเอง
ความพร้อมของโลจิสติกส์ไทยมีมาก เพราะถ้าตัดประเทศที่เป็นเกาะออกไปเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียการขนส่งทางบกยังไงต้องผ่านไทย อย่างค้าขายกับลาว หรือพม่า น่าจะมาขึ้นฝั่งที่แหลมฉบังเพื่อส่งต่อไป
ระบบโลจิสติกส์อยู่แค่ว่าใครจะดำเนินการ จัดการ ได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพ และประหยัดที่สุดในการไปถึงมือผู้รับสินค้า ถ้ามองไปตรงนี้จะเห็นว่าโอกาสยังมี เพราะใคร ๆ ต้องมาผ่านประเทศเราในเรื่องโลจิสติกส์ยังไงก็ตาม สำหรับอาเซียนเราได้เปรียบเพียงแต่เราจะฉวยโอกาสนี้ได้ยังไงเท่านั้น มันมีโอกาส แต่คุณจะหาโอกาสนั้นแล้วไปในช่องทางไหน ไม่ใช่แค่รอให้รัฐเป็นคนทำ
สำหรับผู้ประกอบการไทยระดับสูงมีความพร้อมอยู่แล้ว เช่น บางบริษัทไปเทคโอเวอร์บริษัทต่างชาติที่มีความชำนาญเพื่อนำระบบโลจิสติกส์กระจายสินค้า และบุคลากรเดิมที่มีความรู้ของบริษัทต่างชาติมาเพิ่มประสิทธิภาพให้ตนเอง  ซึ่งบริษัทเหล่านี้มองว่าเป็นโอกาสซึ่งโอกาสมากหรือน้อยมีทุกหนทุกแห่ง จึงอยากให้มองเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค
ขณะที่บริษัทขนาดกลางและเล็กที่บอกว่ากลัวยักษ์ใหญ่จะเข้ามา สิ่งที่อยากให้เห็นคือ ไม่ว่าใครเข้ามาลงทุนก็แล้วแต่ คนที่เข้ามาต้องพึ่งแรงงานคนพื้นที่เพื่อจะพัฒนาต่อไป ดังนั้นเราเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ การที่ต่างชาติเข้ามาเขาไม่กล้าเข้ามาทุ่มทั้งหมด แต่จะทุ่มบางส่วน และให้เราเป็นหุ้นส่วน ระยะต่อจากนี้ไป ชาติในอาเซียนคงต้องมาคุยกันว่าจะเลือกผลิตอุตสาหกรรมอะไรในประเทศของตน เพื่อจะไม่ต้องแข่งกันเอง และเป็นการกระจายของระบบโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคนี้
การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียนของไทย ทางอากาศ สุวรรณภูมิมีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการบินตรงไม่ต้องอ้อมส่วนทางน้ำไทยยังได้เปรียบเพราะท่าเรือแหลมฉบังเป็นทางตรง ทำให้ต้นทุนในการขนส่งลดลง สำหรับทางบก การขนส่งโดยรถไฟยังเป็นปัญหาหนักทีเดียว เนื่องจากความคิดของคนภายในที่ยังมองว่าการเข้ามาของเอกชนจะส่งผลกระทบต่องานของตนที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่อยู่เดิมได้มีความมั่นใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงควรตั้งเป็นกรมรถไฟเพื่อจะได้มีเงินมาพัฒนาและบริหารจัดการรถไฟให้ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้การรถไฟต้องแบกรับภาระทุกอย่างเองหมด ส่วนรถไฟความเร็วสูงคงเป็นแค่เรื่องของคนโดยสารอย่างเดียว สินค้าคงเป็นความเร็วสูงไม่ได้ เพราะใช้รางร่วมกันไม่ได้ เนื่องจากเรื่องความเร็วในการวิ่ง และน้ำหนักในการบรรทุกที่ต่างกัน
ขณะที่กฎหมายบางข้อยังเป็นปัญหาเช่น รถบรรทุก 10 ล้อติดเรื่องน้ำหนัก หรือความสูงของตู้คอนเทนเนอร์ที่เมื่อวิ่งในต่างประเทศไม่มีปัญหา แต่เมื่อมาวิ่งในเมืองไทยกลับโดนจับ เสียเวลาพอสมควรในการพัฒนาเรื่องพวกนี้ จึงต้องเร่งแก้ไขกฎต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น
จุดอ่อนของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยคือ ความสามารถที่จะก้าวสู่ระดับสากลมีมากแค่ไหน สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่คงไม่ต้องพูดถึง แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กการพัฒนาสู่ระดับภูมิภาคยังค่อนข้างน่าหนักใจ ซึ่งจริงแล้วอยู่ที่เขาด้วยว่าอยากพัฒนาหรือไม่  มีการเตรียมความพร้อมแค่ไหน อย่างแรกคือความรู้เรื่องภาษาอังกฤษ ที่ไม่ใช่แค่นักเรียนที่ควรรู้ แต่ผู้ประกอบการเองควรรู้ด้วย ควรเตรียมตัวเอง ขวนขวายให้ตัวเองมีความสามารถ
อย่างที่สองคือเพื่อนบ้านของเรามีโอกาสอะไรบ้าง ก้าวเข้าไปหาโอกาส ต้องสร้างโอกาสให้ตัวเอง อย่ารอให้รัฐเข้ามาช่วย ควรเริ่มเลยถ้าคิดว่าอยากทำอะไร เพราะถ้าไม่เริ่มไม่มีใครเข้ามาช่วยเราได้ เช่น ไปดูตลาดของเขาว่าเป็นอย่างไร มุ่งพัฒนาสินค้าของเราให้ดีจนเกิดการยอมรับจนอยากซื้อสินค้าจากเราแทน วันนี้จึงควรถามตัวเองว่าเราได้ทำอะไรหรือยัง ที่จะปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น สินค้ามีมาตรฐานหรือยัง เพราะที่เรากลัว ๆ บริษัทต่างชาติ ก็เพราะเขามีมาตรฐานสูง
ตอนนี้พม่าพยายามพัฒนาท่าเรือที่ย่างกุ้ง โดยมีทางฮ่องกงและหลายประเทศที่เข้าไปร่วมพัฒนา เพราะว่าจะต้องรีบเปิด ส่วนท่าเรือทวายของพม่า คล้าย ๆ กับมาบตาพุด แหลมฉบังของเรา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา อย่างน้อย ๆ  ประมาณ ปี ถึงจะเกิดความเจริญขึ้นตรงนั้น แต่ตรงย่างกุ้งจะได้เปรียบ ตรงที่จะมีสินค้านำเข้าโดยตรงไปได้เลย ไม่ต้องรอไปผลิตอะไรยังไง เพราะฉะนั้นท่าเรือย่างกุ้งยังไงตอนนี้ถูกพัฒนาเต็มที่ คนวิ่งเข้าไปพยายามจะทำกันตรงนั้น ดังนั้นทางเรือส่วนหนึ่งอาจจะขึ้นตรงแหลมฉบังของเรา อีกส่วนที่ไม่อยากอ้อม อาจจะไปขึ้นตรงพม่าก็ได้ ท่าเรือของเราน่าจะได้ตรงส่วนของลาวกับกัมพูชา
ประเทศจีนพยายามเอาผลผลิตลงมาตรงอาเซียน โดยอาจจะขายไปทางพม่า ลาว หรือกัมพูชา แต่กับเวียดนามเขากำลังมีปัญหาเรื่องเกาะที่กำลังเรียกร้องกันอยู่ และยังหาข้อสรุปอะไรไม่ได้ กลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศที่ใหญ่มาก ดังนั้นในแง่ของเวียดนามกับจีน คิดว่า เดิมของจากจีนอาจจะลงเวียดนาม แต่ตอนนี้คงไม่แล้ว คงเอามาลงทางเราหรือพม่า เพื่อกระจายสินค้าดีกว่า เราจะได้ประโยชน์ จากการที่เขายังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ในปัญหาเรื่องดินแดน ยิ่งทางน้ำ ถ้าเวียดนาม ยังมีปัญหากับจีนอยู่อย่างนี้ ของส่วนหนึ่งก็ต้องมาทางไทย ฉะนั้นยังไงทางน้ำเราก็ยังคงมีศักยภาพ และก็มีโอกาสมากทีเดียว เรื่องภัยธรรมชาติไม่มีใครบอกได้ แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะไม่เผชิญภัยธรรมชาติแบบเก่า ๆ อีก ส่วนอนาคตของโลจิสติกส์ไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในส่วนของคนที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ด้าน เราพยายามทำงานวิจัยทางด้านโลจิสติกส์ที่มีอยู่ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เอาไปใช้ได้เลย โดยบริษัทเล็ก ๆ ไม่มีเงินทำงานวิจัยนี้จึงเป็นประโยชน์ในการช่วยระดับหนึ่ง ถ้ามีการย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และจะต้องกระจายวงให้มากขึ้น ไม่ได้อยู่ในแวดวงของนักวิชาการวงเล็กๆ เท่านั้น และหานักวิชาการหน้าใหม่ๆ ที่สามารถทำวิจัยให้กับบริษัทเล็กๆ ได้ เพื่อให้มีฐานด้านโลจิสติกส์ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร. สมหมาย ผิวสะอาด คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร. ธัญบุรี ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจะเห็นเรื่องโลจิสติกส์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนต่างประเทศคงจะเป็นทางเรือ แต่ถ้าเป็นประชาคมอาเซียน มีการเปิดประเทศ คิดว่าระบบรางคงจะมีความสำคัญ ในตอนแรกอาจจะมีการลงทุนที่มาก แต่ในระยะยาวนั้น จะได้ทั้งในเรื่องของการจราจร และการประหยัดค่าใช้จ่าย
ประเทศเราใช้งบประมาณในเรื่องของพลังงานไปมหาศาล ถ้าหากว่ามีการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ของประเทศเราให้ดี ในอนาคตข้างหน้าเราจะมีเงินเหลือ และสามารถนำเงินตรงนั้นไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศด้านอื่นได้มากขึ้น
ระบบโลจิสติกส์ไทยเราทำมานาน และวางแผนไว้อย่างดีน่ายกย่อง เรามีสนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินดอนเมืองเราก็ไม่ได้ปล่อยไว้เฉย ๆ ก็ยังมีการใช้อยู่ตลอด จากการช่วงชิงแข่งขันเรื่องสนามบินในหลาย ๆ ประเทศ จะเห็นได้ว่าหลายๆ ประเทศพยายามช่วงชิงที่จะเป็นหนึ่ง เราอาจจะต้องมีการปรับปรุง หาจุดเด่นของเรา คือในตอนนี้เราก็มีจุดเด่นมากมาย แต่อาจจะต้องขยับขยาย อย่างเช่น คราวก่อนมีปัญหาเรื่องรันเวย์ เราก็ต้องพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก เพราะทั่วโลกจับตามองประเทศไทยเรา การใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมือง แทนที่จะเอาไปใช้อย่างอื่น เพราะศักยภาพของมันก็ยังคงเป็นสนามบิน เพื่อที่ประเทศเราจะได้มีสนามบินรองรับถึง ที่ ในขณะที่ประเทศอื่นเขาไม่สามารถทำได้อย่างเรา
ระบบโลจิสติกส์ของไทยที่เห็นได้ชัด น่าจะเป็นระบบรถบรรทุก การขนส่งตรงนี้จากที่สังเกตดู ถ้าเศรษฐกิจขยับดีขึ้น จะเห็นรถบรรทุกเยอะมาก แต่ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่จะเห็นได้ชัดเลยว่า รถบรรทุกแทบจะไม่เห็นเลย แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องที่เป็นห่วงคือ เวลาที่จะเสียไปกับการขนส่งโดยใช้ระบบรถยนต์ ซึ่งปัญหาเรื่องรถติด ปัญหาเรื่องถนน ยังไม่นับปัญหาม็อบที่มาปิดถนน ส่วนระบบท่าเรือ เราพัฒนามาเยอะ แต่ว่าที่ผ่านมาเรายังไม่มีประชาคมอาเซียน เราก็มองเฉพาะท่าเรือที่จำกัดอยู่ในประเทศเรา
ระบบโลจิสติกส์ไทย ระบบที่ประหยัดที่สุดคือ ระบบราง แต่ในปัจจุบันระบบการขนส่งของไทย ระบบรางจะใช้น้อยมาก เพราะมีจุดจำกัดในเรื่องเส้นทาง คือจุดที่ไปลง ถ้าเราเคยขึ้นรถไฟ จุดที่ผ่านคือจุดที่ไม่ค่อยมีคน ก็เลยไม่ใช่จุดที่สินค้าจะไปลงแล้วกระจายได้ทันที มันกลายเป็นจุดที่ต้องไปลงแล้วขนต่ออีกจึงทำให้เป็นข้อจำกัด ที่จะต้องวางแผนว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ระบบรางมีประโยชน์และประสิทธิภาพมากกว่านี้ในการไปสู่ผู้รับต้องปรับระบบรางใหม่ทั้งประเทศ ด้านการขนส่งคงไม่เพียงแค่ขนส่งคนอย่างเดียวแล้ว คงจะมีเรื่องของการขนส่งสินค้าต่างๆ ตามมาด้วย
ที่ผ่านมาพื้นที่ประเทศไทยของเราถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนทางด้านระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ หากต่อไประบบโลจิสติกส์ของไทยได้รับการปรับปรุง และพัฒนาให้มากขึ้น คงจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกมาก
ทีมวาไรตี้
……………………………………………………………….
สรุปผลวิจัยระบบโลจิสติกส์ไทยกับจีน
พบว่า โลจิสติกส์ไทย ไม่ได้มีความสามารถทางการแข่งขันที่เหนือผู้ประกอบการรายอื่นๆ ตามมาตรฐานระดับสากลเช่นเดียวกับกรณีของผู้นำเข้า-ส่งออก ซึ่งทั้งมิติของต้นทุน เรื่องของการจัดการรับคืนสินค้าจากลูกค้าต้องใช้เวลามากกว่า วันจึงจะดำเนินการเสร็จสิ้นส่งผลให้มีการร้องเรียนจากลูกค้าที่สูงกว่ามาตรฐาน
โดยสรุปผู้ประกอบการเหล่านี้ ทั้งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยและผู้นำเข้า-ส่งออกไทยที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ควรจะมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจการต่อรองในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจจะมีภาครัฐเป็นตัวกลางหรือผู้ให้การสนับสนุนในกรณีที่ผู้ประกอบการขาดเงินทุน เทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ในการดำเนินงานเพื่อให้การรวมกลุ่มเป็นไปอย่างโปร่งใสและไม่ทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
(ข้อมูลจากผลวิจัย โครงการ การศึกษาระบบโลจิสติกส์ของการค้าไทย– จีน เพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน” โดย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ และคณะ พ.ศ.2552)

 

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/224/148329