“อาคม” สั่งคุมเข้ม! แอร์พอร์ตลิงก์
รมว.คมนาคม สั่งเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำชานชาลารถไฟฟ้า หลังเกิดเหตุหญิงพลัดตกราง เสียชีวิต ด้านแอร์พอร์ตลิงก์ ยืนยันพยายามเบรกแล้ว แต่ไม่ทัน พร้อมเยียวยาเต็มที่
วันที่ 20 มิ.ย.60–นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ รักษาการกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด แถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีนางสาวรสรินทร์ เปลี่ยนหล้า ที่กำลังตั้งครรภ์ 6 เดือน มีอาการวูบ พลัดตกรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีบ้านทับช้าง ฝั่งมุ่งหน้าไปยังสถานีหัวหมาก ก่อนถูกขบวนรถไฟฟ้า ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ชานชาลา ทับร่างเสียชีวิตว่า จากการตรวจสอบทราบว่า ผู้ตายได้ก้าวเดินออกมาจากหลังเส้นเหลือง และมีอาการวูบ พลัดตกลงไปในราง ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามเบรกหยุดรถ ตามระเบียบข้อบังคับแล้ว แต่ไม่ทันการณ์ เนื่องจากขบวนรถไฟฟ้ามีความเร็วปกติที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะชะลอความเร็วเหลือเพียง 60 กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่พื้นที่อาคารผู้โดยสาร ที่ระยะทางประมาณ 200 เมตร แต่ในช่วงเกิดเหตุ ผู้ตายพลัดตกลงไปราง บริเวณต้นทางเข้าสถานี จึงไม่สามารถหยุดรถได้ทัน
ขณะที่นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมช่วยเหลือในการทำศพ เป็นเงิน 4 หมื่นบาท และจะชดเชยตามกรมธรรม์ประกันภัยอีก 4 แสนบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับคดีต่อไป
ทั้งนี้นายสุเทพ กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันเหตุผู้โดยสารตกรางรถไฟซ้ำอีก ขณะนี้แอร์พอร์ตลิงก์ จัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อประตูกระจกกั้นอัตโนมัติ โดยจะติดตั้งเพิ่มเติมใน 8 สถานีที่เหลือ ก่อนหน้านี้ติดตั้งไปเพียง 1 สถานี บริเวณสถานีสนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุดยังอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับเหมาติดตั้ง โดยกำหนดให้ยื่นซองประกวดราคา ภายในวันที่ 29 มิถุนายน และแข่งขันประกวดราคา ในวันที่ 27 กรกฎาคม เบื้องต้นคาดว่า จะเซ็นสัญญาจ้าง ได้กลางเดือนสิงหาคมนี้ และทยอยติดตั้งได้ในเดือนมีนาคมปีหน้า เริ่มจากสถานีพญาไท และสถานีลาดกระบัง
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ระหว่างรอการติดตั้งประตูกระจกกั้นอัตโนมัติ ได้สั่งการให้ผู้บริการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง ทั้งแอร์พอร์ตลิงก์ บีทีเอส และเอ็มอาร์ที เพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำชานชาลา ในทุกสถานีเพื่อตรวจตราความปลอดภัย เพราะบางสถานีมีผู้โดยสารมาก บางคนอาจจะไม่ทราบ และเดินเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย
สำหรับประตูกระจกกั้นอัตโนมัติ หรือประตูกั้นชานชาลา ( Platform screen doors) เป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก เริ่มใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2504 ที่สถานีรถไฟใต้ดิน ในเมืองเซนต์ปีเตอร์ ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นประตูกั้นในรูปแบบลิฟต์แนวราบ เนื่องจากเป็นสถานี ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และเป็นสถานีที่มีเครื่องปรับอากาศ
ส่วนประตูกั้นชานชาลาที่ใช้กัน มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ
1.ประตูกั้นเต็มความสูง จากพื้นถึงเพดาน มักใช้ในสถานีที่มีระบบปรับอากาศ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน ในประเทศไทย (บานประตูทั้งหมด ผลิตจากบริษัทไทย แต่เครื่องควบคุมเป็นของฝรั่งเศส)
2.ประตูกั้นเกือบเต็มความสูงของเพดาน เพื่อเว้นช่องไว้สำหรับระบายอากาศ มักติดตั้งในสถานีที่ไม่ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศ
3.ประตูกั้นป้องกันคนตก ที่มีความสูงตั้งแต่ 1.30 เมตร ถึง 1.70 เมตร เช่น ประตูกั้นรถไฟฟ้าบีทีเอส
ซึ่งจุดมุ่งหมายของการติดตั้งประตูกั้นเหล่านี้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุคนตกราง และรักษาอุณหภูมิภายในชานชาลา แต่ละแห่ง นอกจากนี้ อีกเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ในระบบการขนส่งสาธารณะ คือ สิทธิพิเศษของผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้พิการ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ จะมีการแจกป้าย หรือเข็มกลัด baby on board badge ให้กับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานี คอยอำนวยความสะดวกต่างๆ นั่นเอง