สค. จัดสัมมนานานาชาติ หนุนโลจิสติกส์ไทยปรับตัวรับตลาดสินค้าเกษตรและอาหารเติบโต

663

สค. จัดสัมมนานานาชาติ

 หนุนโลจิสติกส์ไทยปรับตัวรับตลาดสินค้าเกษตรและอาหารเติบโต

ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยมีแนวโน้มสดใสและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) จึงใช้โอกาสอันดีนี้จัดงาน “Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chainหรือ ทิศทางในอนาคตของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย เปิดเวทีให้กูรูโลจิสติกส์จากองค์กรชั้นนำระดับโลก มาเสวนาเจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ของโลกโดยเฉพาะเอเชีย พร้อมเผยกลยุทธ์การบริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ได้ปรับตัวรับกับการขยายตัวของตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต

Symposium เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลสถานการณ์การค้า และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจของไทย กับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการตอบรับยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของไทย ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน งานSymposium ได้จัดขึ้นภายในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์เป็นประจำทุกปี แต่ละปีจะมีวิทยากรจากองค์กรชั้นนำมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ส่วนหัวข้อการบรรยายจะเปลี่ยนไปทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับในปีนี้เน้นเรื่องโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้มีการขยายฐานการค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศแบบครบวงจร ตามนโยบายที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในอุตสาหกรรมอาหารไทยภายใต้โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก” นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าว  

งาน Symposium2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ไบเทค บางนา โดยวันที่สองของงานมีการบรรยายในหัวข้อ “ระบบโลจิสติกส์ของสินค้าอุปโภคบริโภค” โดย นายจอห์น พาร์ค ผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค (Fast Moving Consumer Goods: FMCG) และหัวข้อ “การจัดการโซ่ความเย็นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เกษตร” บรรยายโดย นายริชาร์ด เหย่ ประธานกิตติมศักดิ์ของ Taiwan International Logistics Supply Chain และที่ปรึกษารัฐบาลไต้หวันในการส่งเสริมมาตรฐานสากลสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตร

ในส่วนของการบรรยายเรื่องระบบโลจิสติกส์ของสินค้าอุปโภค-บริโภคนั้น นายจอห์น พาร์ค กล่าวว่า การค้าแบบใหม่จะผสมผสานกันระหว่างการค้าแบบออนไลน์ การค้าแบบออฟไลน์ ระบบโลจิสติกส์ และการใช้ข้อมูลสารสนเทศ เช่น ระบบการชำระเงินผ่านมือถือ ระบบเซนเซอร์ ระบบ AI (Artificial Intelligence) สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ไม่เพียงแค่ยักษ์ใหญ่ออนไลน์อย่างอเมซอน และอาลีบาบาเท่านั้นที่ลงทุนในร้านค้าปลีก แต่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมก็กำลังแสวงหาความร่วมมือกับผู้ให้บริการออนไลน์ เพื่อบริการลูกค้าแบบครบวงจร ตัวอย่างเช่น กูเกิล และวอลมาร์ต ที่ร่วมกันให้บริการจัดส่งสินค้าของอเมซอน ไพร์ม ขณะเดียวกัน ลูกค้าของวอลมาร์ตก็สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซของกูเกิล เอ็กซ์เพรส ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ชี้ให้เห็นอนาคตว่าการค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ

รูปแบบการค้าแบบใหม่ ประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ ระบบสมาชิก (Subscription Service) การส่งสินค้าถึงบ้าน (Home Delivery) การรับสินค้าตามสถานที่ที่กำหนด (Click & Collect) และการค้าผ่านร้านตัวแทน (Third Party) ตัวอย่างที่ดีของระบบสมาชิกคือร้านสตาร์บัคส์ที่ให้ลูกค้าสมัครสมาขิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ ส่วนการจัดส่งสินค้าถึงบ้านเป็นบริการที่ร้านค้าปลีกทำขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า สำหรับ Click & Collect จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าออนไลน์ให้สามารถไปรับสินค้าตามร้านที่กำหนด ส่วนการค้าผ่านร้านค้าตัวแทน เหมาะกับเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและมีความต้องการสินค้าสูง เช่น กำหนดให้ไปรับสินค้าที่ร้าน 7eleven ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากหลายแบรนด์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านค้าตัวแทนก็มีลูกค้าและรายได้เพิ่มขึ้น

            นายจอห์น พาร์ค ยังกล่าวถึงการค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Commerce) ว่าเป็นอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการซื้อและขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ซื้อในสังคมออนไลน์จะมีการแบ่งปันประสบการณ์การซื้อสินค้า มีการแนะนำ และรวมกันซื้อสินค้าด้วยกัน ขณะเดียวกันผู้ขายในสังคมออนไลน์ก็จะมีข้อเสนอที่คุ้มค่า อาทิ มอบส่วนลดจำนวนมากให้กับลูกค้าที่รวมกลุ่มกันซื้อสินค้า ซึ่งเมื่อเทียบกับอีคอมเมิร์ซแบบเดิมแล้ว ผู้ซื้อในสังคมออนไลน์จะมีประสบการณ์เชิงบวกทั้งในเรื่องของประโยชน์และความสะดวกในการใช้บริการ ปัจจุบัน อเมซอนเริ่มให้ลูกค้าเพิ่มสินค้าในตะกร้าสินค้าด้วย #AmazonCart และสร้างร้าน Instagram เพื่อช่วยให้ผู้ติดตามสามารถค้นหาและซื้อสินค้าได้ง่ายดาย นอกจากนี้ Pinduoduo ก็ยังเป็นแอพพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในจีน เนื่องจากเป็นแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันซื้อสินค้า และร่วมกันต่อรองราคาสินค้า

นอกจากนี้ เทคโนโลยี Virtual Reality(VR) หรือความจริงเสมือน และเทคโนโลยี Augmented Reality(AR) หรือการรวมสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือน ก็กำลังเข้าสู่ตลาดค้าปลีกด้วยการผสมผสานประสบการณ์จริงกับระบบดิจิทัล ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินและสะดวกสบายไปกับการเลือกซื้อสินค้าผ่านเทคโนโลยี VR และ AR ซึ่งปัจจุบัน อาลีบาบาได้เปิดตัว VR shopping ที่ทำให้ลูกค้าสามารถเรียกดูและซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้อย่างสะดวกสบายในบ้านของตนเอง

การบรรยายในหัวข้อการจัดการโซ่ความเย็นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เกษตรนั้น นายริชาร์ด เหย่ กล่าวว่า สินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบการจัดการโซ่ความเย็นเข้ามาช่วย ได้แก่ อาหาร เช่น ผักผลไม้สด ที่ต้องใช้กระบวนการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม เนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่ต้องใช้กระบวนแช่แข็ง รวมทั้งสินค้าจำพวกยา เคมีภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หัวใจสำคัญของโซ่ความเย็น คือ การบริหารความเย็นเพื่อรักษาสภาพสินค้าและลดความสูญเสียจากกระบวนการโลจิสติกส์ ยิ่งควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำได้ก็ยิ่งรักษาอายุสินค้าได้นาน ส่วนสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ที่ต้องแช่แข็งต้องทำอุณหภูมิให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สำหรับสินค้าเกษตรประเภทพืชผักผลไม้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการโซ่ความเย็นจะมีความซับซ้อนกว่า ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อุณหภูมิในการเก็บรักษา ความชื้น และสัดส่วนของก๊าซออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และเอธีลีน ที่มีผลต่อการสุกงอม

นายริชาร์ด เหย่ กล่าวถึงประโยชน์ของการบริหารโซ่ความเย็นว่า จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการยืดอายุสินค้าให้นานขึ้น จะทำให้สามารถจัดส่งสินค้าได้ไกลออกไปยิ่งขึ้น ผักผลไม้ที่ยังอยู่ในสภาพที่สวยงาม จะช่วยลดอัตราการเคลมสินค้าคืน นอกจากนี้ ยังลดต้นทุนขนส่ง เพราะสามารถขนส่งทางเรือแทนทางเครื่องบินได้ หัวใจสำคัญของการบริหารโซ่ความเย็นคือต้องควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่วินาทีแรกหลังการเก็บเกี่ยว ตั้งค่าอุณหภูมิที่เหมาะสม ควบคุมอุณหภูมิระหว่างการโหลดผลไม้เข้าตู้คอนเทนเนอร์ ตลอดจนการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ในงานยังมีการบรรยายพิเศษ “แพลตฟอร์มการค้า B2B ระดับโลก” โดย นายโทนี่ หยิน ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ จากประเทศจีน ซึ่งเปิดเผยถึงโอกาสทางธุรกิจในการขยายตลาดสู่ผู้ซื้อระดับองค์กรทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์ม Alibaba.com ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก นายโทนี่ หยิน กล่าวว่า ปัจจุบันอาลีบาบาเป็นตลาดที่มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก มีผู้ซื้อผู้ขายกว่า 10ล้านราย มีฐานอยู่ทั้งในจีน มาเลเซีย และอนาคตมีแผนที่จะมาตั้งในประเทศไทยด้วย จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเติบโตของธุรกิจสมาร์ตโฟน ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ และเกิดการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา อาลีบาบาจึงได้พัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า อาทิ การนำระบบ Virtual Reality (VR) มาใช้ เมื่อเจ้าของกิจการต้องการสั่งสินค้าจากโรงงานใดๆ สามารถใช้ระบบ VR แบบเรียลไทม์ได้ทุกที่แทนการเดินทางไปดูที่โรงงานด้วยตัวเอง

นายโทนี่ หยิน กล่าวอีกว่า อาลีบาบาตั้งเป้าหมายที่จะเป็น One Stop Platform ในอดีตการซื้อขายสินค้าจะต้องทำธุรกรรมเรื่องการจ่ายเงิน การจัดส่ง การหาซัพพลายเออร์ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และใช้เวลามาก One Stop Platformนี้จะทำให้ธุรกรรมออนไลน์สามารถทำผ่านอาลีบาบาได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน สามารถเสนอราคาแบบเรียลไทม์ ประมูลสินค้า รับและส่งสินค้าที่หน้าโรงงานได้เลย

อาลีบาบายังร่วมพัฒนาศักยภาพกับพันธมิตร อาทิ การจัดโครงการอีคอมเมิร์ซ ชาเลนจ์ ให้ความรู้เรื่องโลจิสติกส์และเทคโนโลยี สำหรับในประเทศไทยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาบุคลากรจำนวน 1,200 ราย เพื่อเป็นผู้ช่วยพัฒนาเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และเร็วๆ นี้ จะจัดกิจกรรม SuperSeptember คัดเลือกสินค้าคุณภาพจากไทยไปโปรโมทที่ประเทศจีนและจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจเพื่อให้ผู้ขายได้พบผู้ซื้อ

นอกจากการบรรยายที่น่าสนใจทั้ง 3 หัวข้อแล้ว งาน Symposium 2018 ในวันที่สอง ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อ “โอกาสและความท้ายทายของการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โซ่ความเย็น” ร่วมเสวนาโดย นายซาลดี้ย์ อิลฮัม มาสิตา ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศอินโดนีเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ และซัพพลายเชน นายเลอย์ ดุย เฮียบ ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และห้องเย็นมาตรฐานสากล พร้อมด้วย นายริชาร์ด เหย่ และ นายโทนี่ หยิน โดยมี นายไกรซาร์ กีลิตวาลา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ การตลาด อีคอมเมิร์ซ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นผู้ดำเนินรายการ

ใจความสำคัญของการเสวนาสรุปได้ว่า การพัฒนาการจัดการโซ่ความเย็นให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน และเอกชนด้วยกันเอง เช่น แต่ละประเทศมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าแตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องกฎระเบียบเหล่านี้ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้า ควรนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย และต้องมีการควบคุมคุณภาพสินค้าตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่สามารถสืบย้อนไปถึงแหล่งผลิตของสินค้าได้ ขณะเดียวกันต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ และป้องกันการปนเปื้อน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การร่วมมือกับพันธมิตรในการบริหารจัดการโซ่ความเย็น เพราะทุกกระบวนการมีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของสินค้านั้นๆ

            อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญในการเสวนาครั้งนี้คือ การนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ในกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเน่าเสียง่าย โดยเฉพาะการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีปัจจัยมากมาย เช่น ฤดูกาล สภาพอากาศ ปัญหาโลกร้อนที่ทำให้ไม่ได้ผลผลิตตามฤดูกาล นอกจากนี้ Big Data ยังสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการโซ่ความเย็นด้วย ปัจจุบัน มีการใช้ Big Data วิเคราะห์ว่าอุปกรณ์ในระบบชิ้นส่วนใดมีโอกาสที่จะเสีย หรือแต่ละชิ้นมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเท่าไหร่ เพื่อนำมาวางแผนการบำรุงรักษาก่อนที่จะชำรุด เพื่อป้องกันไม่ให้ห่วงโซ่จุดใดจุดหนึ่งขาดตอน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายมาก