ผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ระดับโลก ร่วมแบ่งปันความรู้ ในงาน “Symposium 2018” เผยกลยุทธ์การบริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย

1125

ผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ระดับโลก ร่วมแบ่งปันความรู้ ในงาน “Symposium2018”

เผยกลยุทธ์การบริหารห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย

จากนโยบายของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการยกระดับการบริการโลจิสติกส์ของไทยให้มีมาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและอาเซียน สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมนำเข้า-ส่งออก และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือด้านโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Symposiumนางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานนี้ว่า Symposium เป็นงานระดับนานาชาติที่กรมฯ จัดเป็นประจำทุกปีในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ (TILOG-LOGISTIX)เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลสถานการณ์การค้า และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจของไทย กับผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศจากองค์กรชั้นนำระดับโลก

“นับเป็นโอกาสอันดีที่หาได้ยากเพราะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้นที่จะมีการบรรยายและเสวนาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ และแนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ รวมไปถึงปัจจัยความสำเร็จของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งวิทยากรที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังแต่ละท่านล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ระดับนานาชาติ ข้อมูลต่างๆ นับว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ร่วมงานที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจันทิรา กล่าว

Symposium2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด The Future of Agriculture and Perishable Goods Value Chain หรือ ทิศทางในอนาคตของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย เพื่อสนับสนุนทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ปรับตัวรับการขยายตัวของตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต และตอบรับยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของไทย ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวันแรกของงานเป็นการบรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโซ่อุปทานอาหารของโลก” และ “สถานการณ์ของโซ่อุปทานอาหารในเอเชีย” ซึ่งข้อมูลจากการบรรยายทั้ง 2 หัวข้อนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค อดีตประธานบริหาร Ahold Asia Pacific (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) ผู้บุกเบิกและมีวิสัยทัศน์ในการจัดการค้าปลีกและซัพพลายเชนอาหารผักผลไม้สดระดับโลก ผู้บรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโซ่อุปทานอาหารของโลก” กล่าวว่า การทำงานในระบบโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการต้องตระหนักว่าผู้บริโภคคือผู้ที่ยากจะคาดการณ์ ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง อย่าคิดว่าจะมีคำตอบเดียวกับทุกโจทย์ ในเบื้องต้นเราต้องมีสินค้าดี อยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีความรวดเร็วในการส่ง แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริม เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโซ่อุปทานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งปัจจุบันองค์กรชั้นนำของโลกได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกตัวอย่าง อเมซอนและอาลีบาบาที่นำหุ่นยนต์ที่สามารถยกสินค้าที่มีน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม เคลื่อนที่ได้ 360 องศา หุ่นยนต์แต่ละตัวมีปฏิสัมพันธ์ และสามารถประสานการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้การทำงานในคลังสินค้าของทั้งอเมซอนและอาลีบาบามีประสิทธิภาพมาก

ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค ยังกล่าวถึง Big Data และ Block Chain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน โดยเน้นย้ำว่าผู้ประกอบการต้องเรียนรู้เรื่อง Big Data เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ทราบว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไร จำนวนเท่าไหร่ ต้องการสินค้านั้นเมื่อไหร่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราผลิตสินค้าและบริหารคลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Block Chain ยังเป็นทางเลือกสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องศึกษา เพราะ Block Chain เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน กรณีที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานอย่างมาก Block Chain จะเชื่อมโยงข้อมูลทุกๆ จุดเพื่อห้ผู้ประกอบการสามารถ จัดการและนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง อาทิ ไอบีเอ็ม หรือวอลมาร์ต ได้นำ Block Chain มาใช้แล้ว นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาช่วยก็ทำให้องค์กรพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้เร็ว

ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการควรมองไปในอนาคตว่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและแบรนด์สินค้าได้อย่างไร รวมถึงต้องหาวิธีที่จะสร้างความแข็งแกร่งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยมองความต้องการของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การให้ข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องการอย่างเพียงพอ เช่น ข้อมูลการแพ้อาหาร เป็นต้น ซึ่งองค์กรที่ทำได้ดีในเรื่องนี้คืออาลีบาบา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายแบบผสมผสาน มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งต้องพิจารณาให้ดีว่าสินค้าของเราเหมาะกับช่องทางการจำหน่ายแบบใดในสัดส่วนเท่าไหร่

ทางด้าน นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ ผู้มีประสบการณ์ยาวนานในวงการโลจิสติกส์ ผู้นำนวัตกรรมมาพัฒนาองค์กร และผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce, Multimodal Transportation และ Last Mile Delivery บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์ของโซ่อุปทานอาหารในเอเชีย” โดยกล่าวว่า ระบบโซ่อุปทานในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ บริษัทที่สามารถบริหารจัดการโซ่อุปทาน และส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วกว่าย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดได้มากกว่า อย่างไรก็ดี การจัดการเรื่องโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เสร็จสมบูรณ์ได้ในครั้งเดียว ระบบโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพนั้นมีหลากหลายรูปแบบ มีกระบวนการและวิธีการจัดการที่ต่างกัน เราจำเป็นต้องรู้วิธีการบริหารจัดการกับแต่ละรูปแบบ สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เพื่อที่จะได้ตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด การแข่งขันในยุคปัจจุบัน ไม่ได้แข่งขันที่ตัวผลิตภัณฑ์ เพราะสินค้าอาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เป็นการแข่งขันที่โซ่อุปทาน คือ ต้องรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องอาศัยความได้เปรียบในเรื่องโซ่อุปทาน วัดกันว่าใครมีการจัดส่งที่รวดเร็วทันใจมากกว่า

สำหรับการจัดการโซ่อุปทานนั้น นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการบูรณาการกระบวนการทำงาน เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระบบโซ่อุปทานในทุกขั้นตอน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่ละฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์คเพื่อไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ และควรมีการประเมิน ตรวจสอบระบบภายในห่วงโซ่อยู่เสมอว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง ส่วนโซ่อุปทานด้านอาหารนั้น ต้องบริหารความหลากหลายและความแตกต่างของอาหารแต่ละประเภทให้ได้ ต้องคำนึงเรื่องกระบวนการจัดการ เช่น การควบคุมอุณหภูมิ การจัดเก็บ การเคลื่อนย้ายขนส่ง และต้นทุนซึ่งมีทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อมที่มาจากหลากหลายปัจจัย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเรื่องมาตรการภาษี หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย เพราะแม้จะบริหารจัดการธุรกิจได้ดี มีรายได้เพิ่ม แต่อาจจะเสียโอกาสในตอนท้าย เพราะไม่ได้ดูเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีหรือกฏหมายการจัดเก็บภาษีต่างๆ

            นอกจากนี้ งาน Symposium2018 วันแรกยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานอาหารและสินค้าที่เสื่อมเสียง่าย” โดย นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ส่งเสริมและผลักดันมาตรฐานสากลร่วมกับระบบการสืบย้อนกลับในทุกกระบวนการที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า นายเรมอน กฤษณัน ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการบริหารจัดการโซ่อุปทานระหว่างประเทศ พร้อมด้วย ดร.ทอม เดน แฮร์ทอค และ นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ โดยมี นายไกรซาร์  กีลิตวาลา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ การตลาด อีคอมเมิร์ซ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่มีประสบการณ์กว่า 25 ปี เป็นผู้ดำเนินรายการ

            เปิดการเสวนาด้วยคำถามจากผู้ดำเนินรายการที่ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญในกระบวนการโลจิกติกส์และการบริหารจัดการโซ่อุปทานด้านอาหาร ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ผ่านมามีตัวอย่างในประเทศสเปนที่ประสบวิกฤตเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร จนส่งผลให้ยอดขายตกต่ำรุนแรง หรือในประเทศจีน ที่ผู้บริโภคไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ และคิดต่อว่าจะต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น ควรมีการสร้างช่องทางสื่อสารหรือการจัดทำคำอธิบายตัวสินค้า เช่น การติดฉลากบรรจุภัณฑ์แสดงรายละเอียดสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำในระบบบาร์โค้ด ที่สามารถใส่รายละเอียดได้มากกว่าเดิม ทั้งส่วนผสม จุดขายสินค้า และการสืบย้อนกลับเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทราบแหล่งที่มาของอาหารได้ นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการขนส่งก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้วย หากการขนส่งติดขัดล่าช้า อาจทำให้อาหารเสีย ส่งผลต่อความปลอดภัยของอาหารเช่นกัน

            ผู้ร่วมเสวนายังแสดงความคิดเห็นด้านความร่วมมือในการพัฒนาโซ่อุปทานว่า เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เกือบทุกประเทศ ภาครัฐจะเป็นผู้สร้างมาตรการ วางกฏเกณฑ์เงื่อนไข และสนับสนุนในเรื่องโซ่อุปทาน ซึ่งอาจะมีความล่าช้าและไม่ทันต่อการพัฒนาหรือความเปลี่ยนแปลง เอกชนก็ไม่ควรรอแต่ภาครัฐ ต้องลงมือทำเองด้วย เราอยู่ในยุคที่มีข่าวสารมากมาย สามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้ต่างๆ เองได้ การเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ จะทำให้เราวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น พฤติกรรมบางอย่างที่เคยมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เช่น การนำภาชนะจากบ้านไปใส่อาหารที่ร้าน เพื่อลดประมาณขยะ วันนี้หลายคนยินดีที่จะทำ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่ผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีไม่สามารถส่งออกได้ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายส่งออก ดังนั้น จึงควรมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้ประกอบการ และร่วมมือพัฒนาหรือสร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลข่าวสารในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ เช่น เรื่องกฏหมายส่งออกระหว่างประเทศ

      ผู้ร่วมเสวนายังทิ้งท้ายในประเด็นเรื่องเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอย่างมากในอนาคต (Disruption) ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก