“บาทแข็ง” ทุบส่งออก SMEs เกินครึ่งไม่ทำประกันความเสี่ยง
ความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้สร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการส่งออกหลายคนเป็นอย่างมาก ล่าสุดทางสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “ค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร” โดยมีกูรูจากสถาบันการเงินต่าง ๆ มาให้คำชี้แนะ
ธปท.รับปัจจัยภายนอกคุมไม่ได้
เริ่มจาก ดร.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อตรวจสุขภาพส่งออกไทย โดยระบุว่า ขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยแข็งค่าขึ้น 5% นับจากช่วงต้นปี แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ยังถือว่าอัตราการแข็งค่าของไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ สอดรับกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในภูมิภาค
ช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีความผันผวนทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทั้งนโยบายการเงินและความไม่แน่นอนทางการเมืองของต่างประเทศทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวน และส่งผลมาถึงค่าเงินผันผวนตามไปด้วย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลในระดับสูง การนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนจากสภาพเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ตลอดจนปัญหาการเมือง การสู้รบในตะวันออกกลาง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ต้องยอมรับให้ได้ ควรมีการบริหารจัดการ หรือปิดความเสี่ยงนั้น ๆ ได้อย่างไร
ที่ผ่านมา ธปท.ได้ใช้มาตรการเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ป้องกันและลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรค่าเงินบาท ผ่อนปรนกฎเกณฑ์การนำเงินลงทุนไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุล และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุมการซื้อขายอัตราเปลี่ยน ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจภาคเอกชนให้ใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยง เช่น การทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Rate) การเปิดบัญชีเงินฝากเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และการใช้เงินสกุลท้องถิ่นกับประเทศคู่ค้า เป็นต้น
SMEs 90% ไม่ประกันความเสี่ยง
ในเวทีสัมมนา “เทคนิคบริหารธุรกิจปิดความเสี่ยงค่าเงิน” ซึ่งประกอบด้วยนายอิทธิพันธ์ เจียกเจิม ผู้อำนวยการอาวุโส Cross Product Solution จากธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) นายคณเชษฐ์ รัตตวิศิษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Corporate Sales ธนาคารกรุงไทย และนายกนกศักดิ์ โมกขมรรคกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ดร.รักษ์ระบุว่า ปัจจุบันโลกหมุนกลับเข้าสู่ยุค Protectionism ซึ่งจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทุก 10-15 ปี หลายประเทศมีการเลือกผู้นำ อย่างสหรัฐ หรือฟิลิปปินส์ เลือกผู้นำที่มีความแข็งกร้าว (Strong) ซึ่งภาวะนี้จะทำให้เกิดความผันผวนจากการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือรับสถานการณ์แข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ไทยจะไม่มีตัวช่วย เช่น สิทธิพิเศษภาษี (GSP) อย่างในอดีต
จากข้อมูลการสำรวจพบว่า เอกชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งหมด 2.7 ล้านราย มีเพียง 2% หรือประมาณ 60,000 รายที่เป็นผู้ส่งออก หรือนักรบเศรษฐกิจ และในจำนวนนี้มีนักรบที่สวมเสื้อเกราะ หรือเข้าใจและใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงทางการเงินเพียง 6,000 ราย หรือคิดเป็น 10% หากเทียบกับเอสเอ็มอีที่ทำส่งออกทั้งหมด 60,000 ราย หรือคิดเป็น 0.1% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด
แนะเดินหมากส่งออกยุค 4.0
ขณะที่เวทีสัมมนา “เดินหมากการส่งออกในยุค 4.0” ทางด้านนายอโศก อุปัทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนยอมรับได้หากค่าเงินผันผวนควรอยู่ในกรอบแคบ ๆ บวกหรือลบไม่เกิน 2-3% และขอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะ ธปท.ช่วยดูแลอัตราค่าธรรมเนียมในการประกันความเสี่ยง (สเปรด) ของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5% และเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อให้เอกชนรายเล็กสามารถระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ่ง (Crown Funding) ได้ แทนการใช้บริการในต่างประเทศ ในส่วนของการส่งออกควรสนับสนุนให้มีโครงการให้เอกชนรายใหญ่ ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเอสเอ็มอี และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน