กลุ่มงานวิจัยและโครงการ: การประยุกต์ใช้การวิเคราะห์สายธารคุณค่าในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมกุ้งขาว

680

การประยุกต์ใช้การวิเคราะห์สายธารคุณค่าในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมกุ้งขาว

วลัยลักษณ์ อัตธีรวงศ์,นิลวรรณ ชุ่มฤทธิ์
>> Download ebook <<

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอการนำหลักการวิเคราะห์สายธารคุณค่ามาประยุกต์ใช้ในโซ่
อุปทานของอุตสาหกรรมกุ้งขาว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ช่วยให้มองเห็นภาพสถานะของกระบวนการ
ปัจจุบันและใช้เป็นแนวทางระบุสถานะที่ควรจะเป็นในอนาคต เพื่อปรับปรุงกระบวนการธุรกิจให้เกิดประสิทธิ
ภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีขอบเขตการศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยงกุ้งจนกระทั่งถึงกระบวนการขนย้าย
ผลิตภัณฑ์ไปยังท่าเรือเพื่อส่งออกและสร้างแผนภาพกระบวนการผลิตจำแนกตามกิจกรรม (Process Activity
Mapping) ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนี้เป็นทั้งข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ที่
เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานกุ้งขาว ตั้งแต่ฟาร์มเพาะฟัก ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้ง เกษตรกร กรมประมง โรงงานแปรรูป/
ห้องเย็น องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงาน รวมทั้ง
สังเกตการปฏิบัติงานจริง เช่น ขั้นตอนการเลี้ยงกุ้ง ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม ขั้นตอนการติดต่อขอเอกสาร
ต่าง ๆ ของเกษตรกรกับกรมประมง และข้อมูลทุติยภูมิซึ่งได้จากเอกสารต่าง ๆ ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผล
การศึกษาพบว่าสามารถจำแนกกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยงกุ้งจนกระทั่งถึงกระบวนการขนย้าย
ผลิตภัณฑ์ไปยังท่าเรือเพื่อส่งออก ได้ทั้งสิ้น 15 กิจกรรม จากนั้นได้ดำเนินการวิเคราะห์และจำแนกกิจกรรม
เหล่านั้นออกเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าเพิ่ม (VA) กิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่มีคุณค่าเพิ่ม (NNVA) และกิจกรรมที่ไม่มี
คุณค่าเพิ่ม (NVA) ซึ่งทั้ง 15 กิจกรรมนั้นสามารถจำแนกเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าเพิ่ม (VA) 62.71% และที่เหลือ
อีก 37.29% เป็นกิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่มีคุณค่าเพิ่ม (NNVA) แนวทางหนึ่งที่สามารถปรับปรุงกระบวนการและ
ลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นแต่ไม่มีคุณค่าเพิ่มลงนั้น จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐจะต้องนำ
ระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อด้วยระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน ซึ่งจะสามารถลด
เวลาในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลดขั้นตอนของการทำงานที่ซ้ำซ้อนลงได้ รวมทั้งจะยังช่วยลด
เวลาในการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน
ชนบทที่ห่างไกลจากตัวเมืองในการติดต่อเพื่อขอรับเอกสารที่เกี่ยวข้องจากทางภาครัฐ โดยจัดตั้งเป็นองค์กร
กลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เช่นในรูปแบบของชมรมหรือสหกรณ์ทำหน้าที่ประสานงานแทน