อย่ามองข้าม “GMS” นี่โอกาสใกล้มือประเทศไทย

965

 เพราะตอนนี้ ใครต่อใครก็พูดถึงแต่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC จนกลายเป็นประเด็นหลักในแทบทุกงานสัมมนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยและคนไทยควรต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่คว้า “โอกาส” ที่กำลังจะเข้ามาในปีอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับ “ความท้าทาย” ที่มักจะมาเคียงคู่กันทุกครั้ง

              แต่กว่าจะถึงปี 2558 เราคงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ AEC จนหนาหู ทำให้บางคนอาจหลงลืม “โอกาส” อื่นๆ ที่บินโฉบไปเฉี่ยวมาใกล้ๆ ตัวเราไปแล้ว โดยเฉพาะโอกาสจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับ “อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” หรือ GMS (Great Mekong Sub-region) ซึ่งประเทศไทยเคยตื่นตัวอย่างมากเมื่อประมาณ 3-5 ปีก่อนหน้านี้

การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเกิดขึ้นราวปี 2535 ภายใต้แนวคิด “หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ” โดยประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, จีน-ยูนาน, พม่า, ลาว, เวียดนาม และไทย ครอบคลุมเนื้อที่ราว 2.34 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวม 257.5 ล้านคน จุดประสงค์ของความร่วมมือคือ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ ตลอดจนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ยกระดับการครองชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษา และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ดูจากขนาดพื้นที่และประชากรแล้ว หลายคนอาจมองว่า AEC นั้นน่าสนใจกว่ากันเยอะ เพราะหากมองในแง่ของตลาด AEC นั้นใหญ่กว่ากันมากกว่าสองเท่า แต่เหตุที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม GMSเพราะโดยชัยภูมิของ GMS ถือเป็นจุดทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย และเมื่อเทียบศักยภาพของ “เมืองไทย” ในเวที AEC กับเวที GMS จะเห็นว่า ในเวทีหลัง ประเทศไทยดูเหมือนจะมีความพร้อมมากที่สุดของกลุ่ม ในการเป็น “หัวหอก” และศูนย์กลางในด้านต่างๆ ของกลุ่ม GMS

ผศ.ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุลแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เคยวิเคราะห์ไว้ว่า มีการคาดการณ์ว่า การเกิด GMS จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับชาติสมาชิกได้มากขึ้น อาทิ การค้าขายระหว่างประเทศไทยกับลาวและไทยกับพม่า โดยเฉพาะกับจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และไทยจะมีมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นสำหรับการลงทุนในประเทศจีน ลาว และพม่า ซึ่งกำลัง “สาวเนื้อหอม” อยู่ในขณะนี้ เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสสูงในแง่ของการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ชูจุดขายความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน หรือเมนูทัวร์ 5 เชียง เป็นต้น แต่ “โอกาส” ที่สำคัญมากคือ การก้าวไปสู่การเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ และการขนส่งลุ่มแม่น้ำโขง

ความคืบหน้าของ GMS มีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางถนน อาทิ การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงระหว่างไทย-พม่า/ลาว-จีนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนามการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) – เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

ยิ่งไปกว่านี้ ตามกรอบความร่วมมือกับภูมิภาคอื่น GMS ยังมีการเชื่อมระบบการค้ากับกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยครอบคลุมไปจนถึงสหภาพยุโรป (European Union: EU) ภายใต้ “ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ GMS-BIMSTEC-EU” ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมตลาดที่มีศักยภาพสูงไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะจีน บังคลาเทศ และอินเดีย

 คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังจากกลับจากการประชุม GMS Summit ณ ประเทศพม่า ว่า ใน GMS มีโอกาสดีๆ หลายเรื่องที่ประเทศไทยน่าจะคว้าไว้ให้ได้เพราะ GMS ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางภูมิศาสตร์ คือเป็นจุดที่อยู่ตรงกลางในการเชื่อมภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าด้วยกัน

 เช่นเดียวกับคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ให้ข้อคิดว่า ประเทศไทยมี “แต้มต่อ” สูงมาก ในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ตามยุทธศาสตร์นี้ โดยเฉพาะในแง่จุดยุทธศาสตร์ เพราะไทยมีที่ตั้งเหมาะสำหรับการผลิตและการค้า และไทยอยู่ใกล้กับ “โอกาส” ตรงนี้มากที่สุดในขณะนี้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ประเทศไทยจะสามารถต่อยอด และใช้ความได้เปรียบที่มีให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

 นอกจากภาครัฐที่ต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพของประเทศและผู้คน ภาคเอกชนเองก็ต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และเปลี่ยนจากเกมรับเป็นเกมรุก เพื่อไขว่คว้า “โอกาส” ที่จะเข้าชิงพื้นที่และสร้างความมั่นคงทางธุรกิจในระดับภูมิภาค GMS เอาไว้ให้ได้ก่อนที่ AEC จะมาถึง

 เพราะ ณ เวลานั้น ถ้าบริษัทของเราแข็งแรงพอ เวที GMS จะกลายเป็น “สปริงบอร์ด” ให้เราขยายต่อไปใน AEC ได้ไม่ยากและอย่างมั่นคง แต่ถ้าแม้แต่โอกาสใน GMS เรายังไม่สามารถคว้าไว้ได้ ทันที่ที่เปิดเสรีตามกรอบ AEC ซึ่งเท่ากับเปิด “ประตูบ้าน” ให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาแข่งขันในประเทศไทยมากขึ้น เมื่อนั้น เราอาจไม่เหลือ “ที่ให้ยืน” ทางธุรกิจ ทั้งในเวที AEC และ GMS หรือแม้แต่ในประเทศไทย ก็ตาม

ที่มา : http://www.logistics2day.com/App_Website/Community/blog.aspx?id=2270