“ผลกระทบของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก(East-West Economic Corridor: EWEC) ต่อการพัฒนาการค้าการลงทุนในแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว”

1009
บทความเรื่อง “ผลกระทบของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก(East-West Economic Corridor: EWEC) ต่อการพัฒนาการค้าการลงทุนในแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว” เป็นการสรุปย่อผลการศึกษาเรื่อง Impact of East West Economic Corridor on Tertiary Business and Social Development of Savannakhet Province, Lao PDR ซึ่งจัดทำโดย Planning and International Cooperation National University of Laos การศึกษาดังกล่าวใช้เผยแพร่ในการประชุม The Mekong Institute Research Advisory Committee (MIRAC) Round Table Meeting ในระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2551 ณ จังหวัดขอนแก่น
งานศึกษาครั้งนี้รวบรวมข้อมูลด้านความคิดเห็นและความคาดหวังของชาวสะหวันนะเขตที่มีต่อเส้นทาง EWEC ในการพัฒนาทางด้านธุรกิจและสังคม โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
แขวงสะหวันนะเขตกับเส้นทาง EWEC
แขวงสะหวันนะเขตตั้งอยู่ในพื้นที่สปป.ลาวตอนกลาง ชายแดนด้านตะวันออกติดกับลาวบาวของเวียดนามที่ด่านสะหวัน (Dansavanh) และด้านตะวันตกติดกับจังหวัดมุกดาหารของไทยโดยมีสะพานมิตรภาพ 2 (The Second Mekong International Bridge) ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 เชื่อมเส้นทาง EWEC ระหว่างไทยกับสปป.ลาวเข้าด้วยกัน  เส้นทาง EWEC ตัดผ่านเขตเมืองใหญ่ 4 เขตในแขวงสะหวันนะเขต ได้แก่ เมืองไกรสอน พมวิหาน (Kaisone Phomvihane -Khanthabouly) เมืองอุทุมพอน  เมืองพิน และเมืองเซโปน (Xepon)
รัฐบาลสปป.ลาว ต้องการพัฒนาสะหวันนะเขตขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการบริการในอนุภูมิภาค โดยได้กู้ยืมเงินจาก the Asian Development Bank (ADB) และ the Japan Bank for International Cooperation (JBIC) เพื่อปรับปรุงเส้นทาง EWEC ในเขตลาวซึ่งมีระยะทาง 240 กม. โครงการ EWEC จะเอื้อให้การเคลื่อนย้ายคนและสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาคเป็นไปโดยง่าย ขึ้น สำหรับสปป.ลาวนั้น EWEC จะทำให้ประเทศมีทางออกทะเล และลาวยังคาดหวังว่า EWEC จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ (foreign direct investment) มากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสะหวันนะเขต แต่ทั้งนี้ลาวยังต้องพัฒนาฐานอุตสาหกรรม (industrial base) ตลอดแนวเส้นถนนเพื่อให้สามารถดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ
พื้นฐานทางเศรษฐกิจของแขวงสะหวันนะเขต
สะหวันนะเขตเป็นแขวงที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในลาวคือประมาณ 857,000 คน (ในปี 2005)  มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาค (GRP) 170 พันล้านกีบในปี 1997 และ เพิ่มเป็น 208 พันล้านกีบในปี 1998 คิดเป็นร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สินค้าส่งออกหลักของสะหวันนะเขต ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม (industry product) ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป อาหาร ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค
สะหวันนะเขตมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ได้แก่ ดิน แร่ธาตุ และป่าไม้ ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ป่าไม้ เหมืองแร่ และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
ในขณะนี้ กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจของแขวงสะหวันนะเขต ได้แก่ การทำนาข้าวและเลี้ยงสัตว์ โดยภาคการเกษตรคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแขวง (GPP) นอกจากสะหวันนะเขตจะเป็นแขวงปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแล้ว ยังมีจำนวนธุรกิจด้านอุตสาหกรรม-หัตถกรรม (industry-handicraft) มากที่สุดในประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแขวง อุตสาหกรรม-หัตถกรรมดังกล่าวเป็น ธุรกิจแปรรูปไม้ ธุรกิจสิ่งทอ และการแปรรูปอาหาร อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนกิจกรรมอื่นๆได้แก่ การทำเหมืองทองคำและทองแดง การค้าปลีกและส่ง ตลอดจนโรงแรมและร้านอาหารขนาดเล็กในเขตเมือง
เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน
สปป.ลาว มีโครงการระดับรัฐที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการเชื่อมเส้นทางคมนาคมในแถบอนุภูมิภาคอยู่หลายโครงการเช่น โครงการปรับปรุง Savannakhet Airport และ โครงการจัดตั้ง Border Trade Zone ที่ด่านสะหวันเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าของลาวและเป็นจุดพักนักท่องเที่ยว โดยสร้าง แรงจูงใจสำหรับนักลงทุนผ่านการงดเว้นค่าเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 11 ปี การระงับภาษีในช่วง 7 ปีแรก และลดภาษี 50 เปอร์เซ็นต์ในอีก 5 ปีถัดไป  อย่างไรก็ตาม มาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญที่สุดสำหรับสปป.ลาวในขณะนี้ คือการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-Seno Special Economic Zone: SASEZ) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของลาว จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประโยชน์จากการที่ลาวเป็นจุดผ่านที่สำคัญของกลุ่มประเทศ GMS เพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างชาติ และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการในระดับอนุภูมิภาคขยายไปสู่ระดับสากล
เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนแบ่งพื้นที่เป็น 2 Site ได้แก่ Site A ซึ่งมีพื้นที่ 300 เฮคเตอร์อยู่ใกล้เขตเมืองของแขวงสะหวันนะเขต เน้นการลงทุนธุรกิจบริการ เช่น โรงแรมและแหล่งบันเทิงและ Site B ซึ่งมีพื้นที่ 20 เฮคเตอร์อยู่ในเมืองเซโน ซึ่งเป็นจุดตัดกันของเส้นทาง R9 และ R13 Site B จะสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรม สินค้าที่ผลิตได้นอกจากจะจำหน่ายในประเทศลาวแล้ว ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงผ่านถนน R9 และ R13 ได้อีกด้วย
ผลการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ SMEs ในแขวงสะหวันนะเขต
เศรษฐกิจในแขวงสะหวันนะเขตกำลังจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ในสะหวันนะเขตในขณะนี้ยังเป็นธุรกิจในครอบครัวซึ่งมีขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น ร้านขายยา ร้านขายของชำ และร้านขายวัสดุก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการในสะหวันนะเขตมีรายได้เฉลี่ย 14.2 ล้านกีบ/เดือน ปัจจัยที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ อัตราภาษีศุลกากร คุณภาพแรงงาน ทุน และระเบียบการค้า
เพื่อศึกษาผลกระทบของ EWEC ต่อธุรกิจในสะหวันนะเขต ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจตลอดเส้นทางEWEC ทั้ง 4 เขต ตลอดจนผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งพบว่า
– 25% เชื่อว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายสร้างแรงจูงใจด้าน capacity building แก่ ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ทำธุรกิจด้าน โรงแรม เกสเฮาส์ และร้าน
อาหาร
– 20% เชื่อว่า EWEC จะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างธุรกิจในและต่างประเทศ แต่ก็คาดว่าจะมีปริมาณการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่ม
ขึ้น
– 28% ต้องการให้รัฐบาลลดอัตราภาษีศุลกากรและให้ทุนสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ SMEs
– 17% เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนด้าน capacity building ให้กับธุรกิจบริการเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติ และต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการ
ทางการค้าเพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่น
– ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและเกสเฮาส์ในเขตเมืองเซโปนและเมืองพินคาดว่า EWEC จะไม่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวมักไม่หยุด
ค้างคืนในลาว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในไกรสอน พมวิหาน และอุทุมพอนคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวและคนขับรถบรรทุก
– ผู้ประกอบการร้านอาหารคาดว่าจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดเส้นทาง EWEC อย่างสมบูรณ์
– ในส่วนของความสามารถในการแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการกล่าวว่ารัฐควรเข้ามามีบทบาทโดยตรงโดยจัดให้มี capacity building
centers เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เสนอกลยุทธ์หลักๆในการส่งเสริมให้สปป.ลาวได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการพัฒนาเส้นทาง EWEC ตามกรอบโครงการ GMS กล่าวคือ รัฐต้องออกกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่จับต้องได้และออกกฎหมายด้านการลงทุน ที่ชัดเจน เพื่อให้การบูรณาการทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการผ่าน capacity building program นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของอุตสาหกรรมภาคบริการเพื่อดึงดูดให้ นักท่องเที่ยวหันมาท่องเที่ยวในลาวมากกว่าที่จะใช้ EWEC เป็นเพียงเส้นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดความยากจนและยกระดับความเป็นอยู่ของชาวแขวงสะหวันนะเขตได้ในบริบทใหม่ของโครงการพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
แปลและเรียบเรียงโดย:
นาง สาววิภาสิรินทร์ วิสุทธกุล ฝ่ายส่งเสริมนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมษายน 2551