ปั้น ‘สัตหีบโมเดล‘!! ดึง ‘อาชีวะ‘ สร้างงานใน ‘อีอีซี‘
‘สัตหีบโมเดล’ ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในแผนดังกล่าวแล้ว เพื่อนำมาเป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างบุคลากรให้เพียงพอ รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะ
โดยคาดว่า จะมีความต้องการอัตราแรงงานมากถึง 1 แสนอัตรา โดยมี ‘วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ’ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ถูกหยิบยกชื่อ และรูปแบบการเรียนการสอนมาใช้ต่อยอดขยายผลไปอีก 11 วิทยาลัยอาชีวะ รวมเป็น 12 วิทยาลัยอาชีวะ ที่ร่วมนำร่อง ได้แก่
1.วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
2.วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
3.วิทยาลัยเทคนิคพัทยา
4.วิทยาลัยเทคนิคระยอง
5.วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี
6.วิทยาลัยเทคนิคตราด
7.วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
8.วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี
9.วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
10.วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา)
11.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี
12.วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี
กำหนดหลักสูตรนิวเอสเคิร์ฟ
ภารกิจของแต่ละวิทยาลัย มีหน้าที่ คือ ‘คัดสรรสาขาวิชา’ ที่สถาบันตัวเองมีความเชี่ยวชาญพิเศษ ดึงออกมาร่วมใน ‘สัตหีบโมเดล’ โดยจะมีองค์กรวิชาชีพร่วมกับสถานประกอบการใน ‘อีอีซี’ ที่มีเครื่องมือ มีความชำนาญในสาขาวิชานั้น ๆ และมีความต้องการบุคลากรในสาขาวิชา เข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตร
อย่างเช่น ‘วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ’ ในเบื้องต้น เลือกสาขาช่างอากาศยาน สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาตรวจสอบโดยไม่ทำลาย สาขาเมแคทรอนิกส์ ส่วน ‘วิทยาลัยเทคนิคพัทยา’ เลือกสาขาหุ่นยนต์และแขนกล และสาขาระบบขนส่งทางราง ก็จะถูกยกระดับหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดอีอีซีมากขึ้น
ลำดับต่อไป เมื่อวิทยาลัยมีความพร้อมด้านหลักสูตรการเรียนการสอน จะมี ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ของแต่ละสถานประกอบการเข้ามาเป็นครูพิเศษหรือวิทยากรอบรมให้กับสถานศึกษา ในกรณีที่สาขาวิชานั้นยังขาดครูอาจารย์ที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ NEWS-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
ได้เบี้ยเลี้ยงช่วงเรียน
ลักษณะของหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามแบบ ‘สัตหีบโมเดล’ จะมีการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและผู้เรียน ภายใต้หลักสูตร S-M-L
S หมายถึง หลักสูตรระยะสั้น (Small Plan) ใช้เวลาเรียน 2 ปี สำหรับผู้มีพื้นความรู้ระดับ ปวส.,
M หมายถึง หลักสูตรระยะปานกลาง (Middle Plan) ใช้เวลาเรียน 3 ปี สำหรับผู้มีพื้นความรู้ระดับ ปวช. ที่ต้องการเรียนต่อถึงระดับ ปวส.
L หมายถึง หลักสูตรระยะยาว (Large Plan) ใช้เวลาเรียน 5 ปี สำหรับผู้เรียนที่ประสงค์จะเรียนต่อเนื่องตั้งแต่ระดับ ปวช. ต่อเนื่อง ถึงระดับ ปวส.
นอกจากนี้ ภายใต้ ‘สัตหีบโมเดล’ อยู่บนหลักการ ‘เรียนรู้-รู้จริง-ลงมือทำจริง’ จะได้รับสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทนในระหว่างการเรียน อาทิ ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 4-5 พันบาท ได้ฝึกงานในสถานประกอบการ โดยที่สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และมีหลักประกันในการได้งานทำที่แน่นอน เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว
ทำงานได้เดือนละ 2 หมื่นบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจที่ทำให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนอีอีซี คือ ระหว่างที่นักศึกษากำลังเรียนเอกชน เขาจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้เดือนละประมาณ 4,000-5,000 บาท ระหว่างการฝึกงาน เขาก็จ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้เหมือนกับแรงงานทั่วไป เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ 100% โดยคาดว่า รายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
“เรียนจบวิทยาลัยอาชีวะในอีอีซี ในสาขาที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในอีอีซี เงินเดือน 20,000 บาท ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งกระบวนการเรียนแบบนี้ ทำให้เขาดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ต้น” นายคณิศ กล่าว
ทั้งนี้ หาก ‘สัตหีบโมเดล’ ประสบความสำเร็จ สามารถจะนำไปขายในพื้นที่อื่น ๆ ได้ โดยแผนการพัฒนาด้านบุคลากรระดับอาชีวะ มีการประเมินความสามารถในการผลิตแรงงานอาชีวะเข้าสู่ตลาดในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในปี 2560-2564 มีจำนวน 1.19 แสนตำแหน่ง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถผลิตได้ 2 หมื่นคน และปี 2564 ผลิตได้ 2.68 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.4% โดยเมื่อเทียบกับความต้องการแรงงานอาชีวะในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ในปี 2560-2564 แล้วพบว่า ความต้องการแรงงานมากกว่าการผลิตแรงงานได้จำนวน 5.64 หมื่นคน