การที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศศูนย์กลางการเจริญเติบโตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้นั้น ประเทศไทยจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญในหลายด้าน เพื่อแสดงความจริงใจว่าประเทศไทยต้องการเห็นการพัฒนาไปด้วยกันของประเทศในหมู่สมาชิก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งในที่สุดแล้วประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด
นอกจากเรื่องการพัฒนาการเชื่อมต่อในด้านต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การร่วมมือเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทนของ AEC ก็เป็นเรื่องที่ประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะปัจจุบันการพัฒนาพลังงานทดแทน ของไทยนับว่าก้าวหน้าที่สุดใน AEC โดยในสมัยที่ผู้เขียนไปประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ปรากฏว่าทุกประเทศอยากจะมาศึกษาการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทย เพราะเห็นว่าไทยมีการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคนี้
เพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทนรองรับการเข้าสู่ AEC ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางพลังงานอีกสี่ท่าน จากกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ บมจ.บางจาก ซึ่งมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวข้องกับด้านนี้โดยตรง
จุดประสงค์ของการวิจัย คือ อยากให้ประเทศในกลุ่ม AEC ที่คาดหมายกันว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตสูง จะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปีละ 4.8% โดยให้มีการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน 25% ภายในปี 2568 โดยประเทศไทยเป็นแบบอย่างตามนโยบายรัฐบาลที่จะให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนถึง 25% ภายในปี 2564 ซึ่งจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความมั่นคงและพึ่งพาตนเองทางพลังงานได้โดยไม่ต้องอาศัยพลังงานจากฟอสซิล ถึง 1 ใน 4 ของการใช้พลังงานทั้งหมด
ผลจากการวิจัยพบว่า ปัญหาหลักของประเทศในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วยคือความรู้เรื่องพลังงานของประชาชนในประเทศยังมีน้อย พอพูดถึงพลังงาน ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีราคาถูก และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนราคาพลังงาน และรัฐบาลในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ได้มีการนำราคาพลังงานมาใช้ในการหาคะแนนนิยม กลายเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งทำให้กลายเป็นปัญหายุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยหากดูตัวอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งนโยบายทางพลังงานเลย โดยพวกเขาจะมีการดำเนินนโยบายแน่นอนทางพลังงานตลอด เพราะรู้ดีว่าหากเข้าไปยุ่งแล้วจะเป็นปัญหาระยะยาว ซึ่งในโลกความเป็นจริง ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนสามารถสนับสนุนราคาพลังงานได้ตลอดไป โดยเฉพาะหากยังเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน นอกจากจะเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานจำนวนมหาศาลเอง และการสนับสนุนราคาพลังงานนอกจากจะบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้มีการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพแล้ว การสนับสนุนราคาพลังงานยังทำให้ไม่สามารถพัฒนาพลังงานทดแทนได้ เพราะไม่มีแรงจูงใจจากส่วนต่างของราคาพลังงาน ซึ่งในอนาคตพลังงานที่มาจากฟอสซิลก็จะหมดลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้น จะช้าจะเร็วการพัฒนาพลังงานทดแทนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นของทุกประเทศและของโลก
บทเรียนของประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตัวอย่างที่ดี จากการที่ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาล หลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันทันที 44% เพราะไม่สามารถแบกรับภาระการสนับสนุนราคาน้ำมันที่นำเข้าถึงปีละกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อไปได้ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากประชาชนอินโดนีเซียเคยชินกับการใช้น้ำมันราคาถูกจากแหล่งน้ำมันภายในประเทศ แต่แหล่งน้ำมันในอินโดนีเซียได้หมดลง และอินโดนีเซียต้องออกจากสมาชิกโอเปก
ประเทศไทย ก็อาจจะประสบปัญหาราคาพลังงานเช่นกัน เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ่าวไทยใช้เป็นแหล่งพลังงานมาเป็นเวลานานจะหมดลงในระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นประเทศไทยจะต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้แทน ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทยประมาณเท่าตัว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันอาศัยก๊าซในการผลิตถึงเกือบ 70% ต้องมีราคาปรับขึ้นในอัตราส่วนเดียวกัน
ทางออกที่น่าจะดีที่สุดคือการเจรจากับประเทศกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองตลอด เพราะรัฐบาลถูกพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกัมพูชา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อนได้
ทั้งๆ ที่ในสมัยที่ฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล และทั้งๆ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่ แต่ปรากฏว่ามีหนังสือจากหน่วยงานของรัฐบาลกัมพูชาแจ้งมาว่า รองนายกฯขณะนั้น ได้แอบไปเจรจาลับๆ 2 หนกับผู้นำกัมพูชาที่ฮ่องกง ในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 และที่คุนหมิง ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 โดยฝ่ายไทยเป็นผู้ร้องขอ ซึ่งทางกัมพูชาสงสัยว่าทำไมต้องเจรจาลับ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ และควรเปิดเผยให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับรู้ เพื่อความโปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยยิ่งกว่า
ในเอกสารวิจัยพบว่า พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนสำคัญๆ ที่ใช้กันอยู่มีประเภทและข้อมูลเชิงวิเคราะห์พอสังเขปดังนี้
พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar power) โดยคนส่วนมากคิดว่าประเทศไทยมีแสงแดดมาก น่าจะผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ดี และอยากให้ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มากๆ แต่ที่ไม่ค่อยทราบกันคือ การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มีต้นทุนที่สูง ต้องมีแรงจูงใจเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ในสัญญารับซื้อไฟฟ้า ให้กับพลังงานที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ แต่เดิมมีการให้แอดเดอร์ถึง 8 บาท คือราคาไฟฟ้าหน่วยละเท่าไหร่เพิ่มให้อีก 8 บาท ต่อมาลดลงเหลือ 6.50 บาท และปัจจุบันกำลังคิดสูตรคำนวณเป็น Feed-in Tariff ที่จะให้มีอัตราส่วนเพิ่มของราคารวมค่าไฟฟ้าที่คงที่ตลอดสัญญา เพื่อความยุติธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า และให้เป็นการปรับให้เข้ากับราคาอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ที่มีราคาลดลง
การที่ต้องมีส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้านี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก และจะไปรวมกับค่าเอฟทีของค่าใช้ไฟฟ้าของประชาชน นอกจากนี้ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังแสงแดดยังไม่เสถียร คือ ไม่สามารถคาดเดาพลังงานที่จะผลิตได้แน่นนอน ทำให้ถ้าหากมีการส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในจำนวนมาก ก็จะต้องมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงอื่นสำรองด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามที่คาดหมายไว้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังแสงอาทิตย์นั้นยังมีราคาแพงและไม่เสถียร แต่ก็ยังควรจะมีการส่งเสริมในด้านนี้อยู่ แต่ไม่ควรให้มีสัดส่วนที่มากเกินไปนัก โดยหวังว่าในอนาคตต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิย์จะมีราคาลดลงจนไม่ต้องมีแอดเดอร์ และมีความเสถียรเพิ่มขึ้น
พลังงานจากลม (Wind Energy) การผลิตไฟฟ้าจากแรงลม จะต้องหาบริเวณที่มีกระแสลมในปริมาณเพียงพอที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้คุ้มทุน ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก หลายแห่งในประเทศไทยเป็นบริเวณเชิงเขาที่เป็นป่าสงวน ซึ่งต้องไปขออนุญาตเช่าป่า และเสี่ยงต่อการทำลายพื้นที่ป่า โดยการผลิตไฟฟ้าจากลมประสบปัญหาเช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพราะยังต้องมีแอดเดอร์และการผลิตไฟฟ้ายังไม่เสถียรเพราะต้องขึ้นกับปริมาณลม ซึ่งก็ควรมีการส่งเสริมในสัดส่วนที่ไม่มากนัก และรอการพัฒนาเช่นกัน
พลังงานจากชีวมวล (Biomass) การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล มีความจำเป็นจะต้องหาวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงให้เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหลายครั้งปริมาณที่ดูเหมือนมากแต่เวลานำมาผลิตไฟฟ้าจริงๆ แล้วอาจจะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปัญหาการแย่งวัตถุดิบกันเกิดขึ้น และหากวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้านี้เกิดมีราคาแพงขึ้นก็จะทำให้โครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลหากควบคุมไม่ดียังอาจจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทำลายสภาวะแวดล้อมได้ด้วย
เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยน่าส่งเสริมอย่างมาก และควรมีการส่งเสริมไปยังประเทศในอาเซียนด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีเนื้อที่ติดกันกับไทย โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง การผลิตไบโอดีเซลจากปาล์ม โดยประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางด้านนี้ก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยผู้เขียนเป็นผู้ริเริ่มการยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 ซึ่งทำให้มีการใช้เอทานอลผสมเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ยิ่งใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นเท่าไรก็จะใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ต้องนำเข้าลดลงเท่านั้น ซึ่งเป็นการรักษาเงินตราต่างประเทศให้คงอยู่ในประเทศด้วย
พลังงานจากน้ำ (Hydro Power) หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าประเทศไทยพึ่งการผลิตไฟฟ้าเองจากเขื่อน ซึ่งจริงๆ แล้วพึ่งน้อยมาก มีสัดส่วนเพียง 5-6% เท่านั้น แต่พลังงานจากน้ำจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาวและเมียนมาร์ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เป็นหมื่นเมกะวัตต์ จะเป็นอนาคตที่ไทยสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพลังงานทดแทนที่จะสามารถดำเนินการได้ในปริมาณที่มากคือ เชื้อเพลิงชีวภาพ และพลังงานจากน้ำ ส่วนที่เหลือคงต้องใช้เวลาในการพัฒนา
โดยจะมี 4 ยุทธศาสตร์ คือ
1) ยุทธศาสตร์เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนของอาเซียน โดยลดการอุดหนุนพลังงานพื้นฐานเปลี่ยนมาอุดหนุนพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างพลังงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน เร่งผลักดันมาตรฐานและนโยบายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั่วทั้งภูมิภาค ส่งเสริมการลงทุนให้มีการเร่งลงทุนในพลังงานทดแทนในมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาค
2) ลดต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อขจัดการอุดหนุนราคาในระยะยาว เช่นในเชื้อเพลิงชีวภาพ จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อให้มีผลผลิตสูงสุด วางแผนจัดสรรพื้นที่การปลูกพืชพลังงานทั้งภูมิภาค พร้อมทั้งตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของภูมิภาค
3) ยุทธศาสตร์การสร้างศูนย์กลางและมาตรฐานพลังงานทดแทนอาเซียน โดยผลักดันก่อตั้งในประเทศไทย ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลางให้เหมาะกับภูมิภาค และเป็นตลาดศูนย์กลางการค้าพลังงานทดแทน
4) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาและลงทุนในพลังงานทดแทนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่น จัดตั้งกองทุนพลังงานทดแทน จัดตั้งองค์กรกลางเพื่อพัฒนา กำหนดนโยบาย ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง และควบคุมการลงทุน พัฒนาเศรษฐกิจกับชนบท พร้อมทั้งการดูแลสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ
ประโยชน์จากการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน
1) ไทยจะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาพลังงานทดแทนในระดับภูมิภาค
2) ความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคและของประเทศไทย
3) เพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
4) ลดปัญหามลพิษและวิกฤตโลกร้อน
5) แก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
หากสามารถดำเนินยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของ AEC นี้ได้สำเร็จจะเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์อย่างมากแก่ทุกประเทศใน AEC โดยเฉพาะประเทศไทย จะได้ประโยชน์มากที่สุด
การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญทางด้านพลังงานทดแทนของภูมิภาคนี้ น่าจะให้ความภูมิใจและเกิดประโยชน์มากกว่า การเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง แต่ชาวนายังยากจนและลำบากอยู่มากมายนัก
ที่มา : http://www.matichon.co.th