ทุนจีนสนตั้งรง.ผลิตรางรถไฟ ‘อิตาเลียนไทย’-‘ซิโน-ไทย’พร้อมอ้าแขนรับ
อิตาเลียนไทยอ้าแขนรับจีนลงทุนตั้งโรงผลิตเหล็กผลิตรางรถไฟในไทยเชื่อได้ประโยชน์ด้านต้นทุนลดลงพร้อมด้านซิโน-ไทยเผยทุนจีนหลายรายตามจีบ ส่วนร.ฟ.ท.เผยปริมาณใช้รางรถไฟทางคู่เฟสแรกและเฟส 2 รวมเกือบ 3 แสนตัน
แหล่งข่าวระดับสูงบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันการจัดซื้อรางยังคงจัดซื้อจากจีนและในแถบยุโรปโดยกรณีซื้อจากจีนนั้นจะนำไปใช้งานกับโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ส่วนกรณีที่ซื้อจากยุโรปจะนำไปใช้งานกับโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่สเปคจะสูงกว่าจากจีนอย่างมาก โดยมีประมาณ 4-5 รายของจีนที่ติดต่อซื้อขายกันมาโดยตลอด
ดังนั้นจากกรณีที่จีนต้องการมาลงทุนในไทยพร้อมกับช่วยรัฐบาลพลิกฟื้นในโซนพื้นที่ภาคตะวันออกตามโครงการแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) นั้นจึงคิดว่าจะมีความเป็นไปได้หากจีนสามารถขนส่งวัตถุดิบการผลิตเหล็กมาตามแนวรถไฟจีน-สปป.ลาว เข้ามายังประเทศไทยเพื่อผลิตรางรถไฟใช้งานในประเทศไทยและป้อนให้กับโครงการรถไฟที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้โดยไม่ต้องไปจัดซื้อและขนส่งมาจากจีนดังเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป
“เบื้องต้นยังไม่มีฝ่ายจีนเข้ามาติดต่อลงทุนกับอิตาเลียนไทย แต่ยืนยันว่าอิตาเลียนไทยพร้อมร่วมลงทุนหากได้เงื่อนไขที่ดี ประการสำคัญหากจีนมาตั้งโรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกก็จะทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง ประเทศไทยก็จะสามารถซื้อรางในราคาที่ถูกกว่ากว่าปัจจุบันนี้”
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ STEC กล่าวว่ามีนักลงทุนจากจีนมาทาบทามทั้งการขายรางและการชักชวนร่วมลงทุนหลายรายแต่ผู้บริหารระดับสูงยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนระบบรางอีกหลายเส้นทางอีกทั้งภูมิภาคนี้กำลังเกิดการพัฒนาระบบรางได้อีกหลายปีการลงทุนจึงน่าจะเกิดความคุ้มค่าในด้านการตั้งโรงเหล็กผลิตรางป้อนให้กับไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้
“ปัจจุบันซิโน-ไทยซื้อรางจากจีนมาใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา- คลองสิบเก้า-แก่งคอย กว่า 1.4 หมื่นตัน นอกจากนั้นยังมีโครงการรถไฟทางคู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 อีกหลายเส้นทางจึงน่าจะมีความต้องการจัดซื้อรางหรือเหล็กอีกจำนวนมากน่าจะเป็นโอกาสในการตัดสินใจร่วมลงทุนของซิโน-ไทยฯหรือจีนในการตั้งโรงเหล็กในประเทศไทยซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เงินลงทุนมากน้อยเพียงใด”
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง(ทล) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่ายังยึดตามแนวทางการปฏิบัติที่ได้ดำเนินการมาสำหรับโครงการรถไฟทางคู่ในทั้งเฟสแรกและเฟส 2 ในเส้นทางต่างๆจะต้องเปิดรับฟังความเห็นและนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้มีการประมูลและก่อสร้างตามแนวทางที่ปฏิบัติตามกฏหมายของไทย ส่วนรัฐบาลจะเสนอให้จีนหรือประเทศใดๆดำเนินการนั้นคงต้องรอความชัดเจนกันต่อไป โดยตามแผนที่กำหนดไว้คาดว่าจะสามารถเสนอเส้นทางตามแผนระยะที่ 2 ให้ครม.อนุมัติประกาศประกวดราคาได้ราวปลายปีนี้
ทั้งนี้ปัจจุบันช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย แบ่งเป็น 2 สัญญา ระยะทางราว 106 กิโลเมตร ผลงานการก่อสร้างขณะนี้เร็วกว่าแผนประมาณ 23% ส่วนภาพรวมทั้ง 2 สัญญาคืบหน้าแล้วกว่า 50% คาดว่าต้นปี 2562 จะแล้วเสร็จตามสัญญา ขณะนี้รอการวางรางในบางช่วงโดยเฉพาะช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
โดยขณะนี้ก่อสร้างไปแล้ว 2 โครงการ และอยู่ระหว่างการประกาศรับฟังความเห็นทีโออาร์อีก 1 โครงการคือเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ โดยในเบื้องต้นเฟสแรกนี้จึงเหลืออีกจำนวน 5 สัญญา ที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังรายละเอียดเอกสารประกวดราคา มีทั้งสัญญาที่เป็นช่วงอุโมงค์ของเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 2 และสัญญาทางยกระดับ อีก 3 สัญญาในเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คาดว่าจะดำเนินการรับฟังความเห็นได้ต่อเนื่องกันไปซึ่งจะได้ตัวผู้รับจ้างในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้”
นอกจากนั้นในแผนระยะที่ 2 ร.ฟ.ท. ยังมีแผนเร่งดำเนินการรถไฟทางคู่อีก จำนวน 9 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 2,332 กิโลเมตร ประกอบด้วย เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กิโลเมตร ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 309 กิโลเมตร ขอนแก่น-หนองคาย 174 กิโลเมตร ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 167 กิโลเมตร สุราษฎร์ธานี-สงขลา 339 กิโลเมตร หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กิโลเมตร เด่นชัย-เชียงใหม่ 217 กิโลเมตร เด่นชัย-เชียงของ 326 กิโลเมตร และเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม 355 กิโลเมตร
“ในระยะที่ 1 มีระยะทางประมาณ 995 กิโลเมตร ส่วนระยะที่ 21,493 กิโลเมตรโดยจะมีทางสายใหม่เพิ่มเข้ามาอีกในระยะที่ 2 จำนวน 681 กิโลเมตร ดังนั้นทางคู่จึงมีจำนวนมากขึ้น การใช้รางจึงมีความจำเป็นและต้องใช้จำนวนมากในการก่อสร้างวางรางของแต่ละเส้นทางซึ่งบริษัทเอกชนที่รับดำเนินการแต่ละสัญญาจะเป็นผู้จัดหามาภายใต้สเปคที่ร.ฟ.ท. กำหนดไว้ ทั้งนี้ในเส้นทางที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย พบว่ามีการใช้รางทั้งสิ้นใน 2 สัญญารวม 14,927 ตัน และช่วงเส้นทางขอนแก่น-ชุมทางถนนจิระ ใช้ราง 26,000 ตัน โดยตามแผนคาดว่าการจัดหารางเฟส 1 จะใช้จำนวน 95,000 ตัน และเฟส 2 จำนวน 200,000 ตัน”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 – 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560