ต้าน BA รุกป่า สร้างสนามบินพังงาทับป่าชายเลน ลุ้นผลสอบกระทรวงทรัพย์
จับตาบางกอกแอร์เวย์สรุกป่าสร้างสนามบินจ.พังงา สตง.พบพิรุธป่าชายเลนไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม ล่าสุดผลสอบถึงมือปลัดกระทรวงทรัพย์ กมธ.สิ่งแวดล้อมสั่งรับฟังเสียงชาวบ้าน ป่าไม้ยันยังไม่อนุมัติ
วันที่ 21 มิ.ย.60–นสพ.ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป ฉบับวันที่22-24มิ.ย.รายงานว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้พิจารณาการดำเนินการขอสร้างสนามบิน ของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) หรือบางกอกแอร์เวย์ส ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คลองทุ่งมะพร้าว ต.ลำแก่น อ.ท้ายเมือง จ.พังงา เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ กำหนดเวลา 30 ปี เนื่องจากพื้นที่ขออนุญาตไม่ชัดเจนว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมหรือป่าชายเลนสตง.ส่งหนังสือท้วงติงไปยังเจ้ากระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปรากฏว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ตอบรับด้วยการมอบหมายให้นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวง ไปดำเนินการโดยลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายรัชฏา สุริยกุล ณ อยุธยา รองปลัด ทส. เป็นประธาน
ล่าสุด พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยว่า ทางกรรมาธิการกำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ พร้อมๆ กับรอให้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบมายังกรรมาธิการ ถ้าจะมีการใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจะต้องเป็นนโยบายที่ผลักดันโดยรัฐบาล ต้องมีความจำเป็นและมีประโยชน์จริง ต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้สภาพแวด ล้อมและประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ถ้าประชาชนเดือดร้อนมาร้องเรียนที่ สนช.
ผลสอบถึงมือปลัด ทส.
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลสอบจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นได้ส่งมาถึงมือแล้ว ตอนนี้กำลังพิจารณาและเตรียมสรุปให้เรียบร้อยในเร็วๆ นี้ก่อนจะมีการแถลงข่าวและชี้แจง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก ทส.ในประเด็นที่ส่งไป เข้าใจว่าอยู่ระหว่างเดินทาง โดยที่มาของปัญหาหลักๆ ประเด็นพื้นที่ขออนุญาตไม่ตรงกัน เนื่องจากการตรวจสภาพป่า โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกรรมการ BA ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ระบุที่ตั้ง บ้านดินแดง หมู่ที่ 4 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง เนื้อที่ 1,915 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา เป็นพื้นที่ไม่มีสภาพเป็นป่าแล้ว ไม่อยู่ใน “เขตป่าชายเลน “ ตามมติ ครม.เมื่อ วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543
ขณะที่ข้อมูลของอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2555 รายงานว่าพื้นที่ตำบลลำแก่น “มีป่าชายเลน” ตามมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 จำนวน 9,895.25 ไร่ และพื้นที่สภาพป่าชายเลนอีก 6,10.98 ไร่ นอกจากนี้พื้นที่ขออนุญาตบางส่วน เนื้อที่ 55 ไร่ เคยมีการให้อนุญาตบุคคลทำการดูดทรายจำหน่ายอยู่และปัจจุบันยังติดคดีศาลพังงาคดีหมายเลขดำที่ อ. 1590/2558 แต่ BA ขอใช้ประ โยชน์โดยให้ข้อมูลว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของทางขึ้นลงเครื่องบิน
“จุดประสงค์ของสตง.ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทบทวน ส่วนโครงการสร้างสนามบินจะเดินหน้าต่ออย่างไร ต้องสามารถแจงเหตุผลความจำเป็น เหมาะสมอย่างไร มีข้อดีข้อเสีย มาหักล้างข้อท้วงติงของสตง.อย่างไร” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าถ้าพื้นที่ถูกต้อง ควรให้เอกชนรายอื่นที่สนใจมีส่วนร่วมในการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งทำไมไม่มีการทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนในกิจการของรัฐฯ
กรมป่าไม้ขอเคลียร์
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมป่าไม้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องของการขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับให้รอบด้านถึงความจำเป็นในการมีสนามบินแห่งใหม่
ส่วนนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ยืนยันว่า ที่ผ่านมากรมป่าไม้ ยังไม่ได้อนุญาตให้เช่าพื้นที่แต่อย่างใด ต้องนำเรื่องผ่านการกลั่นกรองคณะกรรมการป่าสงวน รวมถึง EIA ส่วนสิ่งที่ สตง.ตั้งข้อสังเกตมา เป็นเพียงเรื่องของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติในระดับพื้นที่เสนอมา
“เป็นการตรวจสอบกายภาพของพื้นที่ว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมหรือไม่ ด้วยการเปิดภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง พบว่าไม่ได้เป็นป่าชายเลน เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกมานาน เพียงแต่พื้นที่รอบๆ เป็นป่าชายเลน จึงมีความเห็นว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม และควรอนุญาตให้เช่าพื้นที่ ตามที่เอกชนได้ยื่นใบคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายใน
เขตป่าสงวน ตามมาตรา 16 เป็นความเห็นในระดับพื้นที่ เป็นเพียงขั้นตอนแรกซึ่งไม่ได้มีผลว่ากรมป่าไม้ได้อนุญาตให้เช่าพื้นที่แล้ว”
ถ้าเอกชนจะลงทุนก็ต้องลงทุนอีกมากประกอบกับโครงการสนามบิน เป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ของประเทศ เกี่ยวข้องกับ ก.ม.หลายกระทรวง อย่างไรก็ดี ที่ สตง.ตั้งข้อสังเกตมา ทางกรมป่าไม้ก็เตรียมจะชี้แจง กรมป่าไม้มองว่า การพิจารณาในเรื่องการขอใช้พื้นที่เพื่อทำประโยชน์ในกรณีก่อสร้างสนามบิน จะใช้หลักเกณฑ์นี้เหมือนทั่วไปไม่ได้ ที่คำตอบของระดับพื้นที่จะให้ความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเหมือนในกรณีอื่นๆที่ทำเหมือนทุกครั้ง ควรจะมีคำตอบอื่นที่ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด
“การย้ายผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่เป็นเรื่องของการบริหารภายใน”
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทการบินกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ ให้เหตุผลว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับภาครัฐด้วยกันเองสำหรับแผนก่อสร้างสนามบินที่ BA วางไว้ หากทางกรมป่าไม้เห็นชอบให้บริษัทเช่าพื้นที่ดังกล่าว ก็คาดว่าจะใช้เวลารวมถึง EIA ภายในระยะเวลาราว 2 ปี จะสร้างทางวิ่ง
หรือรันเวย์ ยาว 2,500 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดแอร์บัสเอ 330 จุผู้โดยสารได้ราว 200-300 คน ขณะที่อาคารผู้โดยสาร ก็จะมีขนาดใหญ่กว่าสนามบินสมุย