ชงตั้งเขตส่งเสริมในอีอีซี ขอนายกฯไฟเขียว WHA – กนอ.นำร่อง 3.2 พันไร่

709

 

ชงตั้งเขตส่งเสริมในอีอีซี ขอนายกฯไฟเขียว WHA – กนอ.นำร่อง 3.2 พันไร่

นิคมแห่ยื่นขอจัดตั้งเขตส่งเสริมในอีอีซีชี้เป็นช่องทางดึงดูดนักลงทุน WHAและกนอ.เสือปืนไวเตรียมชงพื้นที่รวมกว่า3.2 พันไร่นำร่องถึง“ประยุทธ์” ขอไฟเขียว 19 ก.ค.นี้

ขณะที่รัฐบาลพยายามเร่งรัดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยการประกาศพื้นที่สนามบินอู่ตะเภากว่า 6,000 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก และจะประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่คาดว่าจะเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้การประกาศเป็นเขตส่งเสริมจะช่วยให้เกิดการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่ม นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในพื้นที่อีอีซี ส่งผลให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายสนใจยื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมแล้ว เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเหมราช และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) โดยคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการเสนอเรื่องให้พิจารณา

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ซึ่งมีนิคมอยู่ 9 แห่งในจังหวัดชลบุรีและระยอง ที่พร้อมพัฒนาแล้วกว่า 1 หมื่นไร่ และมีความพร้อมที่จะยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมได้ทั้งหมด โดยพื้นที่นำร่องแห่งแรกได้เตรียมที่ดินไว้ราว 2,000ไร่ ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 18 กิโลเมตร จะเสนอเป็นเขตส่งเสริมของอุตสาหกรรมอากาศยาน เช่น การตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และยานยนต์สมัยใหม่

โดยขณะนี้กำลังปรับหน้าดินบนพื้นที่ภายในนิคมฯเหมราชระยอง และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น วางระบบไฟเบอร์ออพติกรองรับการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงล่าสุดได้ส่งเรื่องไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกแล้วเนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจตามมาตรา 44 ที่ให้มีอำนาจในการอนุมัติเอกชนจัดตั้งนิคมเป็นเขตส่งเสริมได้ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกาศบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากบริษัท ดับบลิวเอชเอฯ ยื่นเรื่องขอจัดตั้งนิคมเป็นเขตส่งเสริมแล้ว ยังมีพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขนาด 1,200 ไร่ บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยองที่จะขอเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคหรือ “สมาร์ท พาร์ก” เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงรวมถึงด้านโลจิสติกส์ด้วย

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในเร็วๆนี้กลุ่มอมตะจะเสนอเรื่องไปยังกนอ.เพื่อเสนอขอจัดตั้งนิคมในจังหวัดชลบุรีและระยองพื้นที่ราว 2,000-3,000 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมนำร่องก่อน จากที่มีพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไฮเทคมากขึ้น และอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนใหม่ โดยพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดนี้ถือว่ามีจุดเด่นใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะดึงความสนใจของนักลงทุนได้ และเป็นฐานของอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่แล้วในปัจจุบัน