การออกแบบระบบการตัดสินใจเลือกระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างไทย-เวียดนาม
รศ.ดร.อรรถกร เก่งพล และคณะ
>> Download ebook <<
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ การสร้างระบบช่วยการตัดสินใจ เลือกเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างไทยกับเวียดนาม สำหรับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในการตัดสินใจเมื่อกำหนดจุดต้นทาง คือกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และจุดปลายทางของการขนส่ง คือ กรุงฮานอย นครดานัง และนครโฮจิมินห์ ภายใต้ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเชิงคุณภาพ คือ งบประมาณที่มี เวลาในการขนส่งสินค้าที่กำหนดไว้ และปัจจัยตัดสินใจเชิงคุณภาพ คือ ความเสี่ยงของการขนส่ง จากการศึกษาพบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ปัจจัยด้านความเสี่ยงต่อตัวสินค้า 2) ปัจจัยด้านความเสี่ยงความเสี่ยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในเส้นทางการขนส่ง และ 3)ปัจจัยด้านความเสี่ยงด้านกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ระบบการตัดสินใจนี้จะประกอบด้วยเครื่องมือ2 เครื่องมือ คือ 1) รูปแบบการคิดต้นทุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal TransportCost-model) เพื่อนำมาคำนวณหาต้นทุนและเวลาในการขนส่งในเส้นทางต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในระบบตัดสินใจ 2) โปรแกรมเป้าหมายแบบศูนย์หนึ่ง (Zero-One Goal Programming: ZOGP)ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ เพื่อคำนวณหาเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เหมาะสมภายใต้งบประมาณที่ต่ำที่สุด ใช้เวลาในการขนส่งตรงต่อเวลาที่กำหนดมากที่สุด และความเสี่ยงของการขนส่งแต่ละด้านต่ำที่สุด ตามความต้องการของผู้ตัดสินใจกำหนด และผู้ตัดสินใจสามารถกำหนดความสำคัญของปัจจัยทั้ง 5 ด้าน ในการตัดสินใจแต่ละครั้งตามสถานการณ์ที่ผู้ตัดสินใจต้องการได้จากการศึกษาพบว่า เส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในปัจจุบันที่มีศักยภาพในทุกด้านที่สุดคือ กรุงเทพฯ ไปนครโฮจิมินห์ มีเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งหมด 9 เส้นทาง ผลการคำนวณเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เหมาะสม คือ เส้นทางที่ใช้รถบรรทุกไปนำสินค้าจากลูกค้า ณ สถานที่ตั้งโรงงานมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วขึ้นเรือสู่ท่าเรือที่นครโฮจิมินห์ ขึ้นรถบรรทุกไปส่งให้ลูกค้า เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปกรุงฮานอย มีเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งหมด 21 เส้นทาง เส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เหมาะสม คือ เส้นทางการใช้รถบรรทุกไปนำสินค้าจากลูกค้า ณ สถานที่ตั้งโรงงานมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วขึ้นเรือสู่ท่าเรือที่เมืองไฮฟอง ขึ้นรถบรรทุกไปส่งให้ลูกค้า เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปนครดานัง มีเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งหมด 11 เส้นทาง เส้นทาง เส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เหมาะสม คือ เส้นทางจากการใช้รถบรรทุกไปนำสินค้าจากลูกค้า ณ สถานที่ตั้งโรงงานมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วขึ้นเรือสู่ท่าเรือที่ดานัง ขึ้นรถบรรทุกไปส่งให้ลูกค้า